Make Appointment

ไวรัสตับอักเสบบีทำให้เกิดโรคตับได้อย่างไร

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 1717

  การก่อภาวะตับอักเสบของไวรัสตับอักเสบบีน่าสนใจมาก เพราะตัวไวรัสตับอักเสบบี เองไม่ได้ทำลายตับโดยตรงอย่างที่หลายท่านเข้าใจ การเกิดตับอักเสบของไวรัสตับอักเสบบี เกิดตับอักเสบจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างไวรัสตับอักเสบบีที่อยู่ในเซลล์ตับ กับภูมิต้านทานของเรา ซึ่งส่วนใหญ่คือเม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่เหมือนตำรวจคอยตรวจตราความเรียบร้อยให้ร่างกาย แม้มีไวรัสตับอักเสบบี จำนวนมาก หากเม็ดเลือดขาวไม่สามารถตรวจพบว่ามีไวรัสตับบี ในร่างกายก็ไม่ทำให้เกิดการอักเสบ  
     ในกรณีที่ติดเชื้อตั้งแต่วัยเด็ก พบว่า ในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อช่วง 10-15 ปีแรก จะเป็นเช่นนี้คือ ปริมาณไวรัสมากมาย แต่การทำงานของตับปกติจนเข้าสู่วัยรุ่น เม็ดเลือดขาวเริ่มสังเกตว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในเซลตับจึงพยายามทำลายไวรัสตับอักเสบบี  แต่เนื่องจากไวรัสอยู่ในเซลตับ การทำลายไวรัสตับบี จึงเป็นผลให้เซลตับถูกทำลายไปด้วย  
     สิ่งที่ช่วยให้ภูมิต้านทานของเราทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพคือ สารอินเตอร์เฟอรอน (interferon)
หากภูมิต้านทานของเราแข็งแรง มีสารช่วยทำงานเพียงพอก็สามารถทำลายไวรัสตับอักเสบบีได้รวดเร็ว การอักเสบก็เกิดในระยะเวลาสั้น ในที่สุดก็อาจกำจัดไวรัสตับอักเสบบีได้ถาวรหรือควบคุมได้โดยไวรัสเหลือน้อยมากๆ ไม่เป็นปัญหาไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยากับเม็ดเลือดขาวต่อไป การอักเสบก็ลดลง ขณะเดียวกัน ตับก็มีเวลาฟักพื้น อาการก็จะค่อยๆดีขึ้น ตามลำดับ 
     ในทางกลับกันหากภูมิต้านทานเราไม่เก่งพอหรือมีสารต่างๆโดยเฉพาะสารอินเตอร์เฟอรอน (interferon) ไม่เพียงพอ ปฏิกิริยาต่างๆก็เกิดต่อเนื่องทำให้เซลตับถูกทำลายตลอดเวลา ผลก็คือเซลตับเหลือลดลงเรื่อยๆ และถูกแทนที่ด้วยแผลหรือเป็นพังผืด หากมีพังผืดมากๆก็เกิดภาวะที่เรียกว่า ตับแข็งจากการที่มีพังผืดมากๆ ซึ่งหากเกิดตับแข็งที่ทำให้มีเนื้อตับดีเหลือน้อยลงทำให้เกิดการสร้างสารต่างๆ ได้ลดลง ทำให้ตับเสื่อมหน้าที่ลง ร่วมกับการมีเนื้อเยื่อพังผืดมากๆทำให้รัดหลอดเลือดในตับ ทำให้ความดันในหลอดเลือดดำพอร์ตัลสูงเกิดเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหารและอาเจียนเป็นเลือดได้ การเกิดตับแข็งจะเป็นสิ่งสำคัญในการเกิดมะเร็งตับ นอกจากนั้นไวรัสตับอักเสบบี ยังอาจแทรกตัวเข้ากับสายดีเอ็นเอของเราก่อมะเร็งได้อีกทางหนึ่ง
     ดังนั้นพึงเข้าใจว่า ไวรัสตับอักเสบบี ไม่ได้ทำลายตับโดยตรงและปริมาณไวรัส หากมากก็ไม่จำเป็นต้องมีการอักเสบมากครับ 

โดย รศ.นพ.ทวีศักดิ์  แทนวันดี 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://santis5558.blogspot.com/2016/05/blog-post_24.html