Make Appointment

เมื่อสูงวัยจะเสี่ยงตัวสั้นลงเพราะกระดูกพรุนไหม? ตรวจรู้ก่อน...ก็ป้องกันได้

17 Mar 2025 เปิดอ่าน 71

โรคกระดูกพรุนเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อยู่กับเราทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ สาเหตุของโรคนี้คือการสูญเสียแคลเซียมในกระดูกทำให้กระดูกบางลง โดยเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี กระดูกจะบางลง 1-3% ทุกปี แต่ในคนที่อายุยังน้อยเองหากมีพฤติกรรมทำลายมวลกระดูก ไม่ว่าจะเป็นชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ น้ำหนักตัวน้อยเกิน ไม่ชอบออกกำลังกาย หรือมีการใช้ยารักษาโรคบางกลุ่ม เช่น สเตียรอยด์ ยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยารักษาเบาหวาน อาจไม่ต้องรอให้สูงวัย…ก็ควรมาตรวจเช็กมวลกระดูกเพื่อค้นหาความเสี่ยงกระดูกพรุนในอนาคต

‘ภาวะกระดูกพรุน’ คืออะไร?

คือภาวะที่ปริมาณเนื้อกระดูกลดลงและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระดูก รวมถึงความสามารถในการรับน้ำหนักของร่างกาย ทำให้เกิดการหัก การยุบตัวของกระดูก และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

รู้ไหม? ส่วนสูงเราลดลงได้…จากภาวะกระดูกพรุน

โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อคนเราอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ส่วนสูงจะลดลงประมาณ 1 ซม.ในทุกๆ 10 ปี จากความเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูก แต่หากส่วนสูงลดลงมากกว่า 1 นิ้ว หรือ 2.5 ซม. ต่อปี แนะนำว่าควรมาตรวจหาภาวะกระดูกพรุนจะดีกว่า

‘สตรีสูงอายุ’ เสี่ยงกระดูกพรุนมากกว่า…จริงหรอ?

อย่างที่บอกไปแล้วว่าเมื่ออายุมากขึ้นกระดูกก็จะบางลง ซึ่งผู้หญิงเป็นเพศที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากกว่าผู้ชาย นั่นก็เพราะเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะสูญเสียฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 60 ปี จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนถึง 25% และอีกกลุ่มคือผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดเร็วหรือผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุ 45 ปี นั่นเอง

การตรวจหาภาวะตัวสั้นลง ต้องทำอย่างไร

  • การตรวจมวลกระดูก โดยใช้เครื่องวิธีเอ็กซเรย์แบบ Dual-energy X-ray absorbtiometry (DEXA) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น อีกทั้งขั้นตอนการตรวจก็ง่าย ไม่ยุ่งยาก และได้ผลดี แต่ถ้าถามว่าแล้วจะต้องตรวจบ่อยแค่ไหนนั้น ก็คงขึ้นอยู่กับสภาพกระดูกของแต่ละคน หากสภาพกระดูกยังดี อีก 4-5 ปีอาจจะค่อยกลับมาตรวจอีกครั้งก็ได้ แต่หากใครที่มีค่ากระดูกต่ำแล้วจำเป็นต้องรักษา คนกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องมาตรวจทุกปีนั่นเอง
  • การตรวจระดับวิตามิน D ในร่างกาย (Vitamin D level)
  • การตรวจเอ็กซเรย์กระดูกสันหลังระดับคอถึงระดับเอว( X-rays spine scoliotic view (Lateral)

ไม่อยากตัวสั้นลงเพราะกระดูกพรุน คุณป้องกันได้

โรคกระดูกพรุนนั้นเกิดจากการเสื่อมไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการรักษาเราจึงเน้นที่การป้องกัน ให้ความสำคัญที่การทานอาหารและการออกกำลังกาย โดยเน้นสองหลักการ คือ การสร้างความแข็งแรงและความหนาแน่นของกระดูกในช่วงอายุก่อน 30 ปี และการชะลอการสูญเสียมวลกระดูกหลังอายุ 30 ปี รวมถึงการให้ยา การผ่าตัด และการฟื้นฟูเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน รวมไปถึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ได้รับวิตามินดีและแคลเซียมอย่างเพียงพอ และควรตรวจค่ากระดูกพื้นฐานไว้บ้าง ว่าเราต้องปรับพฤติกรรมอะไรเพื่อให้กระดูกแข็งแรงหรือเปล่า

 

นพ. จิระเดช ตุงคะเศรณี

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2