Make Appointment

โรคกระดูกพรุน กับการป้องกัน ดูแลรักษา

17 Mar 2025 เปิดอ่าน 76

โรคกระดูกพรุน มักถูกเรียกว่า “มหันตภัยเงียบ” เนื่องจากการสูญเสียมวลกระดูกมักไม่แสดงอาการใดออกมา รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสองรองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด

 

ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น กระดูกมีความหนาแน่นมากที่สุด หลังจากอายุ 30 ปีขึ้นไป ความหนาแน่นของกระดูกจะเริ่มลดลง อัตราการสลายกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสร้างกระดูก ส่งผลให้กระดูกบางลงและอ่อนแอจนเกิด “ภาวะกระดูกพรุน”

 

โรคกระดูกพรุนจะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหลัง กระดูกสันหลังยุบตัวลง หลังค่อมตัวเตี้ยลง กระดูกแขนขาเปราะหักง่ายเมื่อมีแรงกระแทกเพียงเบาๆ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน

ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน มักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะสตรีผู้สูงอายุ (> 65 ปี) ชาวเอเชียที่มีโครงสร้างร่างกายเล็ก และหมดระดูก่อนอายุ 45 ปี เคยกระดูกหักจากภาวะกระดูกเปราะบาง รวมทั้งสมาชิกครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน

 

นอกจากนี้ คนไทยยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนจากการรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอในการบริโภคต่อวัน การสูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นประจำก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเช่นกัน

การดูแลผู้ป่วย…และป้องกันการลุกลามของโรคกระดูกพรุน

การป้องกันการเกิดกระดูกพรุนมีหลายวิธี เช่น การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และแร่ธาตุต่างๆ ช่วยทำให้สูญเสียมวลกระดูกช้าลง การออกกำลังกายสม่ำเสมอและเหมาะสมจะช่วยทำให้การทรงตัวดีขึ้น การปรับปรุงบ้านให้ปลอดภัย สามารถลดความเสี่ยงในการหกล้ม ลดปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การสูบบุรี่ การดื่มสุราจัด

การรักษาโรคกระดูกพรุนด้วยการกินยา และฉีดยา

ปัจจุบันการรักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปรับการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย และการรักษาด้วยยา ซึ่งมีหลากหลายกลุ่ม เช่น ยาออกฤทธิ์ต้านการสลายกระดูก การรับฮอร์โมน และการให้แร่ธาตุเสริมต่างๆ แต่จะต้องใช้เวลาในการรักษา และอาจเกิดผลข้างเคียงกับคนไข้ได้

 

ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาร่วมกับลักษณะของคนไข้ เช่น การใช้ยาต้านการสลายกระดูกชนิดรับประทาน โดยผู้ป่วยจะต้องทานตอนท้องว่าง และนั่งตัวตรงเป็นเวลา 45 นาที ซึ่งหากไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะส่งผลให้ได้รับยาไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งแพทย์อาจเลือกใช้ยาในกลุ่มอื่นแทน เช่น ยาฉีดแบบทุกๆ 3 เดือน เพื่อต้านการสลายกระดูก ซึ่งสะดวกในการบริหารยาของคนไข้ คนไข้ได้รับยาเต็มจำนวน มีความปลอดภัยและลดผลข้างเคียงจากการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ทั้งสามารถเพิ่มมวลกระดูกได้ดีกว่ายาชนิดรับประทาน จึงมั่นใจได้ว่าคนไข้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน

การออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเพิ่มมวลกระดูก ควรเป็นแบบลงน้ำหนัก (weight-bearing exercise) กระดูกเป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยกระดูกจะรับรู้แรงเชิงกลแล้ว ปรับแต่งเนื้อกระดูกให้สอดคล้องกับระดับแรง

 

ถ้ากล้ามเนื้อออกแรงกระทำต่อกระดูกมาก เซลล์กระดูกจะสร้างเนื้อกระดูกเพิ่มมากกว่าการสลาย แต่ถ้าออกแรงกระทำต่อกระดูกน้อยจะทำให้เกิดการสลายกระดูกมากขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายที่เพิ่มการสร้างมวลกระดูก ต้องเป็นการออกกำลังกายให้กระดูกส่วนนั้นๆ ได้แบกรับน้ำหนัก ถ้าหากท่านมีภาวะกระดูกพรุนอยู่ แนะนำให้ท่านออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง ดังนี้

  1. บริหารกล้ามเนื้อหลังส่วนบน โดยการนอนราบหมอนหนุนบริเวณเอว วางมือไว้ข้างลำตัว บริหารโดยยกศีรษะและหน้าอกขึ้น พร้อมดึงสะบักเข้าหากัน
  2. บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยการนอนราบ ตั้งเข่าขึ้น วางมือไว้ข้างลำตัว บริหารโดยการยกศีรษะพร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง
  3. บริหารกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง โดยการยกเท้าข้างใดข้างหนึ่งให้เข่างอ ยกให้ต้นขาอยู่ในระนาบเดียวกับลำตัว
  4. บริหารกล้ามเนื้อหลังส่วนบน โดยการดึงแขนทั้งสองข้างมาทางด้านหลัง
  5. บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยการนอนราบตั้งเข่าขึ้น บริหารโดยการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง กดหลังแนบกับพื้น และยกสะโพกขึ้น

 

นพ. จิระเดช ตุงคะเศรณี

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2