Make Appointment

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

12 Aug 2016 เปิดอ่าน 1785

 เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
 
คือ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ภายนอกโพรงมดลูก โดยอาจแทรกตัวอยู่ในผนังกล้ามเนื้อมดลูก อาจเข้าไปในช่องท้องจนไปเจริญเติบโตอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ และผนังกระเพาะปัสสาวะ แผลผ่าตัดผนังหน้าท้อง สะดือและบางครั้งอาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด สมอง เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ก็จะยังคงทำหน้าที่เช่นเดิมคือการสร้างเลือดประจำเดือน จึงทำให้มีเลือดสะสมอยู่และยิ่งนานเลือดที่สะสมอยู่ก็จะมีสีคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะดังกล่าว ซึ่งถ้าไปเกิดที่รังไข่ก็จะกลายเป็นถุงน้ำ เรียกว่า “ช็อกโกแลตซีสต์” 
 
 สาเหตุที่ทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
 
ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการไหลย้อนของประจำเดือนผ่านท่อนำไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง โดยมักจะตกไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน เราจึงมักพบเยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้เจริญเติบโตอยู่บริเวณรังไข่ และเยื่อบุช่องท้องด้านหลังของมดลูก นอกจากนี้ เชื่อว่าเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอาจกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปได้โดยผ่านทางหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง จึงอาจทำให้เกิดรอยโรคขึ้นได้ในต่อมน้ำเหลือง ปอด สมอง รวมทั้งอาจเกิดที่ผิวหนัง สะดือ และแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง 
 
 อาการแสดงที่สำคัญ 
 
  ได้แก่ อาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติ โดยความรุนแรงของอาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในบางรายมีอาการปวดหน่วงลงทวารหนัก ปวดร้าวไปหลัง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก ซึ่งสัมพันธ์กับการอักเสบและการเกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานจากตัวโรค สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน และในกรณีที่รอยโรคอยู่ที่ลำไส้ตรงหรือกระเพาะปัสสาวะ ก็อาจพบเลือดออกทางทวารหนักหรือปัสสาวะเป็นเลือดได้ในช่วงที่มีประจำเดือน อย่างไรก็ตามพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีอาการแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรมาตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มต้นจะดีกว่า  
 
แนวทางการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
 
1.การใช้ยา
 
- ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพื่อช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดท้องน้อย
 
- ยาฮอร์โมน ซึ่งมีทั้งยากิน ยาฉีด และห่วงฮอร์โมนใส่ในโพรงมดลูก
 
2.การผ่าตัด
 
 - การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องโดยใช้กล้อง เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็ว และมีโอกาสเกิดพังผืดภายหลังการผ่าตัดน้อยกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
 
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องควรใช้ในกรณีที่รอยโรคเป็นรุนแรง
 
ในการผ่าตัดเอารอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออกนั้น หากไม่ได้รับการรักษาต่อภายหลังการผ่าตัดพบว่ามีโอกาสที่โรคจะกลับเป็นซ้ำได้ราวร้อยละ 5 ถึง 20 ต่อปี หรือร้อยละ 40 ในเวลา 5 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยที่ยังไม่ต้องการมีบุตรในทันทีจึงควรได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการใช้ยาฮอร์โมน ส่วนในรายที่ต้องการมีบุตรนั้น ช่วงเวลาดีที่สุดที่จะมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 1 ปีแรกภายหลังการผ่าตัด ส่วนในกรณีที่รอยโรคค่อนข้างรุนแรงและผู้ป่วยไม่ต้องการมีบุตรแล้ว การผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกทั้งหมดจะช่วยให้หายขาดจากโรคได้ แต่ก็มีข้อเสีย คือ ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนเวลาอันควร ในกรณีนี้จึงอาจจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อช่วยลดอาการต่างๆ ของภาวะวัยทอง
 
 พญ.นันทอร วงศ์เจริญเกียรติ
 
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.komchadluek.net/news/unclecham/211344