Make Appointment

ประสาทหูเทียม....แก้ปัญหาหูดับฉับพลัน

19 Dec 2016 เปิดอ่าน 1005

สี่ปีที่แล้ว เสียงประทัดปึงปังโครมครามวันตรุษจีนไม่ได้ทำให้ นภัสวรรณ ทองอยู่ หรือ ”ลูกหยี” สาวน้อยวัย ๔ ขวบตกอกตกใจกับเสียงระรัวแสบแก้วหู สัญญาณบอกวันเริ่มต้นปีใหม่ของจีน และไม่ว่าจะเป็นสรรพเสียงใดก็ตาม รวมถึงเสียงเพลงอันรื่นรมย์ เธอไม่อาจรับรู้ได้ทั้งสิ้น ถ้าคุณรู้จักกับลูกหยีสมัยที่เธออายุ ๒ ขวบ คุณจะรู้ว่าเธอเป็นเด็กช่างพูด ร่าเริงตามวัยเด็ก โชคร้ายที่เธอป่วยเป็นไข้สูง จนต้องแพทย์ต้องจ่ายยาปฏิชีวนะรักษาไข้ โดยไม่มีใครรู้ว่า ลูกหยีแพ้ยา อาการรุนแรงถึงขั้นแก้วหูทะลุจนเลือดออกหู หลังการแพ้ยา ธนวรรณ ทองอยู่ วัย ๔๒ คุณแม่พบว่า ลูกที่เคยช่างพูดช่างสงสัย เปลี่ยนไปจากเดิม กลายเป็นเด็กพูดจาไม่รู้เรื่อง พูดไม่เป็นภาษา จนไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ เพื่อนในห้องเรียน หรือคุณครู ทำให้การเรียนต้องชะงักลง เมื่อพาไปตรวจที่โรงพยาบาลพบว่า น้องลูกหยีหูดับทั้ง ๒ ข้าง ไม่สามารถได้ยินเสียงใดอีกต่อไป

“แม่เครียดนะ จากลูกที่เคยช่างพูดช่างคุย กลับพูดได้แต่ บลา ๆ ๆ บางครั้งก็พูดไม่เป็นภาษา ทำให้สื่อสารไม่รู้เรื่อง น้องลูกหยีก็หงุดหงิด กลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ พ่อก็เครียดที่พูดกับลูกไม่รู้เรื่อง” ผู้เป็นแม่เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนครอบครัวของเธอไปอย่างสิ้นเชิง ต่อมา ธนวรรณพาลูกไปฝึกการพูด ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร อยู่ระยะหนึ่ง แต่ยังช่วยให้ลูกสาวได้ยินเสียงกลับมาน้อยมาก ผู้ฝึกแนะนำให้น้องลูกหยี เข้ารับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมตอน ๔ ขวบ

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุจิตรา ประสานสุข ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด เวียนศีรษะ เสียงรบกวนในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ ผู้ทำการผ่าตัดให้กับน้องลูกหยีอธิบายว่า ประสาทหูเทียม เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่รับสัญญาณเสียงแทนอวัยวะรับเสียง โดยจะเปลี่ยนสัญญาณเสียง เป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นประสาทรับเสียงต่อไปยังสมอง อุปกรณ์ประสาทหูเทียม ประกอบด้วย ๒ ส่วนใหญ่คือ ส่วนที่อยู่ภายในทำด้วยซิลิโคน และมีสายพร้อมอิเลคโตรด ที่จะสอดเข้าไปในกระดูกก้นหอยของหูชั้นใน เพื่อไปกระตุ้นเซลล์ของการได้ยิน ใช้ส่งสัญญาณไปตามประสาทการได้ยินไปที่สมอง เพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน ส่วนที่สองเป็นแป้นฝังอยู่ที่กะโหลกหลังใบหู คือตัวรับสัญญาณจากภายนอก และมีแม่เหล็กไว้ยึดติดกับส่วนภายนอก โดยเครื่องแปลงสัญญาณจะเกี่ยวอยู่หลังหู มีไมโครโฟนทำหน้าที่รับ-ส่งเสียงมาที่ตัวแปลงเสียงสัญญาณและส่งไปยังตัวรับที่ฝังกะโหลก โดยมีแม่เหล็กติดประกบกันอยู่ อุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกมีแบตเตอรี่อยู่ในตัว ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่ใหม่ได้

วิธีการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมนั้น จะต้องผ่าตัดกรอโพรงกระดูกออก เพื่อเข้าไปสู่หูชั้นกลาง จากนั้นสอดสายอิเลคโตรดเข้าไปที่กระดูกก้นหอยในหูชั้นใน ตัวที่จะรับเสียงจะถูกฝังอยู่ในกะโหลกด้านหลังหู “การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง และต้องนอนรักษาตัวอยู่อีก ๒-๓ วัน ก็กลับบ้านได้” ศ.เกียรติคุณ พญ.สุจิตราอธิบายก่อนเสริมว่า หลังผ่าตัด ๑ เดือน จึงจะเปิดสวิตช์เครื่อง พร้อมกับปรับเสียงที่จะเข้าไปภายในหู ให้ได้ยินเสียงให้ดังพอดีไม่ดังเกินไป การปรับนี้จะปรับทุก ๒-๓ สัปดาห์เพื่อให้เสียงชัดและพอเหมาะที่สุด ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ต้องฝึกฟังฝึกหัดพูดไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลาจึงจะสามารถฟังและพูดได้ สำหรับผู้ที่จะรับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมได้ ต้องเป็นผู้หูหนวกมากหรือหนวกสนิททั้งสองข้าง จนใช้เครื่องช่วยฟังธรรมดาไม่ได้ผล อายุมากกว่าหนึ่งขวบขึ้นไป ที่สำคัญคือต้องไม่มีเงื่อนไขในความเสี่ยงของการผ่าตัด เช่น มีโรคประจำตัวไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไต “ก่อนตัดสินใจผ่าตัดจะต้องคำนึงว่า หลังการผ่าตัดใส่เครื่องประสาทหูเทียมแล้ว ผู้รับการผ่าตัดจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนมากจะได้ยินดีขึ้นจนฝึกพูดได้ แต่ต้องไม่คาดหวังประโยชน์ เกินกว่าประสิทธิภาพของเครื่อง ว่าจะได้ยินเสมือนมีหูทิพย์ เพราะค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้มีค่อนข้างสูง คือ ๙.๕ แสนบาทขึ้นไป ผู้ป่วยและญาติจึงมักตั้งความหวังไว้สูงสุด” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย กรณีเช่นนี้ เกิดขึ้นกับคุณแม่น้องลูกหยีเช่นกัน เธอหวังว่า การผ่าตัดจะทำให้ลูกเธอเหมือนเดิมในทันที แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะน้องลูกหยียังคงต้องเรียนรู้ วิธีการพูดและฟังเสียงอีกกว่า ๓ ปี จึงจะใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ

“ผู้ใส่ประสาทหูเทียมสามารถเข้าร่วมกิจกรรม หรือเล่นกีฬาได้เหมือนคนปกติ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังประสาทหูเทียม โดยเฉพาะในเด็กที่กะโหลกศีรษะบาง ต้องระวังการกระทบกระแทกศีรษะเป็นพิเศษ ส่วนการดูแลรักษาเครื่องนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงดูแลให้สะอาด ไม่ให้เปียกชื้น ชิ้นส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกายสามารถเปลี่ยนและซ่อมได้” ศ.เกียรติคุณ พญ.สุจิตรา แนะนำ ข้อควรระมัดระวังอีกอย่างคือ คนไข้จะเข้าไปในสนามแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ได้ เช่น การผ่านเข้าเครื่องตรวจที่สนามบิน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีบัตรแสดงตัว ว่าใส่ประสาทหูเทียม ทั้งยังไม่สามารถตรวจคลื่นแม่เหล็ก MRI เพราะจะทำให้เกิดคลื่นรบกวนในหัว เป็นต้น

วันนี้ น้องลูกหยีอายุ ๘ ขวบแล้ว เรียนอยู่ชั้นป. ๒ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ พูดคุยสื่อสารกับเพื่อน ครู พ่อแม่ สามารถเรียนหนังสือได้ตามปกติ พร้อมเกรดเฉลี่ย ๓.๙๘ ที่คุณแม่ธนวรรณภูมิอกภูมิใจมาก “ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานผ่าตัดประสาทหูเทียม ควรวัดและประเมินการได้ยิน ศึกษาเรื่องการผ่าตัดประสาทหูเทียมจนเข้าใจก่อน เพื่อจะช่วยให้มีการพัฒนาทักษะการได้ยินที่ดี และจำเป็นต้องตรวจสภาพจิตใจ สภาพทางสมอง และเอกซเรย์ดูอวัยวะหูชั้นในว่าปกติดีหรือไม่ " ศ.เกียรติคุณ พญ.สุจิตรา ยังบอกด้วยว่า เมื่อใส่เครื่องแปลงสัญญาณแล้ว การปรับเครื่องแปลงสัญญาณ (Mapping) ในเด็กอาจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับเสียงใหม่ที่เพิ่งได้ยิน และให้มีประสบการณ์การได้ยินเบื้องต้นที่ดีก่อน พ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เพื่อให้เกิดความเคยชินในเวลาที่เด็กอยู่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้มีพัฒนาการที่เร็วขึ้น ตลอดจนมีแรงบันดาลใจที่จะพยายามสื่อสารจากเสียงที่ได้ยินใหม่ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.oocities.org/nadtthai/news.cochlearimplant.09.02.51.html