นัดพบแพทย์

กินอาหารรักษาโรคลมชัก หรือ Ketogenic Diet

01 Aug 2016 เปิดอ่าน 8819

อะไรคือ อาหาร Ketogenic Diet
    อาหาร Ketogenic Diet คือ อาหารสูตรพิเศษที่มีส่วนประกอบที่ทำมาจากอาหารปกติทั่ว ๆ ไป แต่มีส่วนผสม สัดส่วนที่มีปริมาณไขมันสูง (high fat) คาร์โบไฮเดรตต่ำ (low carbohydrate) โปรตีนต่ำ (low protein) โดยสัดส่วนที่เหมาะสมจะได้จาก การคำนวณในคนไข้แต่ละคน  ผลที่ได้จากการกินอาหารชนิดนี้คือร่างกายจะอยู่ในภาวะ ketosis คือจะมีสาร ketone สูงในร่างกาย ในกระแสเลือด และในสมอง รวมถึงพบสารนี้ในปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ร่างกายเปลี่ยนแหล่งของพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตหรือกลูโคส  มาเป็นไขมันแทน สาร ketone นี้เกิดจากการสลายไขมันเป็นแหล่งพลังงานทดแทน     ภาวะ ketosis นี้ในคนปกติจะพบเมื่อ ร่างกายขาดน้ำ และอดอาหารเป็นเวลานาน

Ketogenic Diet ช่วยรักษาโรคลมชักได้อย่างไร  
   กลไกจริง ๆ ไม่ทราบแน่ชัด มีอย่างน้อย 4 ทฤษฎี ที่พยายามอธิบายกลไกในการออกฤทธิ์ระงับอาการชัก ของผู้ป่วยโรคลมชัก  อาจเกิดอาการเสียสมดุลย์ของภาวะกรดด่างในสมอง การเสียความสมดุลย์ของน้ำและเกลือแร่ในสมอง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงแหล่งการใช้พลังงานของสมอง  และสุดท้ายเกิดจากกลไกของสาร ketone เองที่มีการออกฤทธิ์ในสมองระงับอาการชัก

Ketogenic Diet เป็นแค่การทดลอง หรือ การรักษามาตราฐาน และรักษาโรคลมชักได้จริงหรือ
Ketogenic Diet เป็นการรักษาโรคลมชักแบบมาตรฐานเช่นเดียวกับการใช้ยารักษา และการผ่าตัดโรคลมชัก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบได้กับยากันชัก   เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคลมชักแบบรักษายาก ผลในการรักษาจะพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้ป่วย จะได้ประโยชน์จากการรักษาแบบนี้
เนื่องจากโรคลมชัก (Epilepsy) มีอาการชัก (Seizure type) หลายแบบ     Ketogenic Diet จะ สามารถรักษาอาการชักได้หลายแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการการชักแบบทั้งตัวเช่น generalized tonic clonic , akinetic, myoclonic seizures

Ketogenic Diet เหมาะสำหรับใคร
อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ ที่เป็นโรคลมชักแบบรักษายาก ที่ต้องกินยาหลายชนิด แล้วยังมีอาการชักอยู่  (Intractable Epilepsy) โดยมากมักจะใช้ในเด็กมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มอาการ Lenox – Gastaut Syndrome หรือเด็กที่มีความพิการทางสมองที่ต้องให้อาหารทางสายยาง แล้วยังมีอาการชักควบคุมไม่อยู่
การเริ่ม Ketogenic Diet จะต้องทำอย่างไร
ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลทั้งหมดประมาณ 3-5 วัน  เพื่อใช้ในการติดตาม เฝ้าระวังอาการชัก ระหว่างที่นอนโรงพยาบาล ญาติจะเรียนรู้ที่จะเตรียมอาหารชนิดนี้  และร่วมดูแลกับเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจะถูกจำกัดประมาณน้ำและงดอาหารใดๆ ภาวะใน 24 ชั่วโมงแรก  ระดับน้ำตาลในเลือดจะถูกเฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด    และจะรอจนคนไข้เข้าสู่สภาวะ ketosis หรือมีสาร ketone ออกมาในปัสสาวะ จึงเริ่มอาหาร Ketogenic Diet ที่ละเล็กน้อย  ผู้ป่วยจะกลับบ้านเมื่อผู้ปกครองมีความมั่นใจในการเตรียมอาหาร เข้าใจหลักการ และวิธีดูแลผู้ป่วย

การดูแลต้องทำอะไรบ้าง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ Ketogenic Diet
เนื่องจากหลักการในการรักษาคือ ต้องการให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะ ketosis ให้นานที่สุดจากการใช้อาหาร ภาวะนี้จะเกิดได้ต่อไป ถ้าผู้ป่วยถูกจำกัดปริมาณอาหาร และน้ำที่ได้รับต่อวันน้อยกว่าคนปกติ 80% และต้องงดอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล ดังนั้นหลักการดูแลคือ ต้องควบคุมสัดส่วนของอาหาร และน้ำอย่างเคร่งครัด  ติดตามภาวะ ketone ในปัสสาวะสม่ำเสมอ  เนื่องจากคนไข้ที่กินอาหารชนิดนี้จะถูกควบคุมปริมาณอาหาร แคลอรี่ ทำให้อยู่สภาวะขาดน้ำเล็กน้อย ดั้งนั้นผลข้างเคียงสำคัญคือ นิ่วในไต ภาวะขาดน้ำเกินขาด  ท้องผูก ขาดสารอาหารทำให้กระดูกหักง่าย  น้ำหนักตัวไม่ชื้น  ขาดวิตามินบางชนิด ระดับไขมันสูงในเลือด

อาหารต้องกินไปนานเท่าไหร่
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกินอาหารประมาณ 2 ปี ในระหว่างนี้อาจต้องมีการปรับสัดส่วนอาหาร   เจาะเลือดติดตามสภาวะสารน้ำ เกลือแร่ในร่างกาย ระดับไขมัน เป็นระยะๆ  เพื่อเฝ้าระวังภาวะขาดสารอาหาร การเจริญเติบโต  ในระหว่างนี้ยากันชักบางตัวอาจหยุดได้ ผู้ป่วยที่กินอาหารนี้ควรอยู่ในมือแพทย์ และติดตามภาวะสมดุลย์ของสารอาหาร น้ำ เกลือแร่เสมอ ผู้ป่วยควรได้รับวิตามินและแคลเซี่ยมเสริม