นพ.ธนัตถ์ อัศวิษณุ
อายุรแพทย์โรคหัวใจ
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome, Heart attack) เป็นกลุ่มโรคที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ เป็นโรคที่มีความจำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วนและการที่ผู้ป่วยตระหนักถึงอาการและรีบมารักษาอย่างรวดเร็วจะมีผลต่ออัตรารอดชีวิตเป็นอย่างมาก
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมีการตีบหรืออุดตันเฉียบพลันทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและหากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว(heart failure) และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ (cardiac arrhythmia)
อาการสำคัญ
ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกด้านซ้ายคล้ายถูกกดทับหรือกดรัด(pressure like) บ้างครั้งอาการแน่นหน้าอกอาจมีร้าวไปยังแขนซ้ายหรือบริเวณกราม อาการแน่นมักเป็นรุนแรงหลายครั้งต้องหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ การออกแรงจะยิ่งทำให้อาการแน่นเป็นมากขึ้น(pain on exertion) หลังจากหยุดพักอาการแน่นอาจดีขึ้นแต่ไม่หายสนิท
อาการเสริมอย่างอื่นๆ เช่น อาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หายใจไม่สะดวก(จากภาวะหัวใจล้มเหลว) อาการใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน
ข้อควรระวัง ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้หญิงและกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานอาจจะมีอาการแสดงที่แตกต่างจากปกติได้เช่น อาการเหนื่อยเป็นหลักโดยไม่มีอาการแน่นเจ็บหน้าอกหรือบางรายอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ทำให้สับสนกับโรคกระเพาะได้
แนวทางการวินิฉัย
เบื้องต้นแพทย์จะใช้ข้อมูลจากประวัติและตรวจร่างกาย ข้อมูลปัจจัยเสี่ยง ผลจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG)ในการคัดกรองผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ร่วมกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบความผิดปกติแบบ ST ยก(STEMI) จะได้รับการวินิจฉัยในทันทีและส่งรักษาเพื่อเปิดเส้นเลือดหัวใจอย่างเร่งด่วน(
หมายเหตุบางครั้งแพทย์อาจจะมีความจำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจมากกว่า 1 ครั้งห่างกัน 3-6 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายจริงๆ
แนวทางการรักษา
การรรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะใช้การรักษาด้วยยาร่วมกับการรักษาเส้นเลือดหัวใจ(revascularization) โดยวิธีสวนหัวใจและใส่ขวดลวด (Percutaneous coronary intervention) หรือผ่าตัดบายพาส (CABG) โดยจะพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นกับชนิดของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ความซับซ้อนของโรคเส้นเลือด (complexity of anatomy) โรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน
โดยทั่วไปในกลุ่มโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด ST ยก (STEMI) จะใช้การรักษาโดยวิธีสวนหัวใจและใส่ขดลวดเป็นหลัก (primary PCI) เนื่องจากต้องการความรวดเร็วในการเปิดเส้นเลือดหัวใจที่อุดตัน ในขณะที่กลุ่มโรคหัวใจขาดเลือดชนิด STไม่ยก (NSTEMI) จะเลือกทำการฉีดสีเพื่อดูโครงสร้างของเส้นเลือดหัวใจก่อนภายใน 24-72 ชั่วโมง จากนั้นจึงพิจารณาวิธีการรักษาต่อไป
การรักษาด้วยยาแพทย์จะใช้ยาป้องกันเกร็ดเลือดแข็งตัวสองชนิดร่วมกัน(dual antiplatelet)ร่วมกับยาฉีดป้องกันลิ่มเลือดแข็งตัว(anticoagulant)และยาลดไขมันเพื่อช่วย stabilize plaque นอกจากนี้ยังมียากลุ่มไนเตรท(nitrate)และเบต้าบล็อกเกอร์(Beta blocker)เพื่อช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก
หมายเหตุ การฉีดสีสวนหัวใจเป็นการรักษาเส้นเลือดหัวใจโดยไม่ได้ทำการผ่าตัด ปัจจุบันสามารถทำได้ทางข้อมือ(radial artery)หรือขาหนีบ(femoral artery) ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาและได้รับยาแก้ปวดอ่อนๆขณะทำหัตถการ โดยผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-3 วัน
แนวทางการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
เราสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ลดความเครียดจากการทำงานต่างๆ หลีกเลี่ยงภาวะอ้วนลงพุง (รอบเอวในผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตรและรอบเอวในผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร) รักษาและควบคุมภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ร่วมถึงควรออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ (ออกกำลังกายระดับปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์หรือออกกำลังกายระดับรุนแรงสูง 75 นาทีต่อสัปดาห์) และทานอาหารที่มีประโยชน์ (ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์)
แนวทางการปฎิบัติตัวเมื่อสงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
หากมีอาการขณะออกกำลังอยู่ให้หยุดกิจกรรมทันทีแล้วสังเกตอาการแน่นหน้าอก สามารถใช้ยาอมใต้ลิ้นได้(ถ้ามีสามารถใช้ได้ 1เม็ดทุก 5นาที) หากมีอาการแน่นหน้าอกมากหรือแน่นมากกว่า 20 นาทีหรือไม่ตอบสนองต่อยาอมใต้ลิ้นมากกว่า 3 เม็ดควรรีบไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมให้เร็วที่สุดโดยให้ญาติพาไปส่งหรือโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ
Photo Credit : https://www.freepik.com/free-photo/woman-is-clutching-her-chest_5216330.htm#page=1&query=heart attack&position=0