Make Appointment

รักษาเข่าเสื่อมเฉพาะส่วนด้วยเทคนิคใหม่

02 Mar 2017 เปิดอ่าน 1896

ข้อเข่าเสื่อมถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงตั้งแต่วัยกลางคน โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี การเสื่อมในช่วงแรกจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง อาการต่างๆ จะแย่ลงอย่างรวดเร็ว

โดยทั่วไปเข่าเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานตามวัยมักจะเริ่มมีการเสื่อมที่ผิวข้อเข่าซีกด้านในของข้อเข่าก่อน ต่อมาจึงจะเริ่มมีความเสื่อมที่ซีกด้านนอก รวมไปถึงที่ผิวลูกสะบ้า หากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจแต่เนิ่นๆ จะพบว่าผิวที่มีความเสื่อมนั้นจะยังจำกัดอยู่ที่ผิวของข้อเข่าซีกด้านในมากที่สุด ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะดังกล่าวนี้จึงสามารถที่จะเลือกวิธีการผ่าตัดแก้ไขเฉพาะผิวด้านในได้ เรียกว่าการรผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartmental Knee Arthroplasty หรือ UKA)

การผ่าตัด เปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) คือการผ่าตัดที่ทดแทนผิวกระดูกอ่อนที่เสียหายเพียงซีกเดียวด้วยวัสดุโลหะพิเศษ ในขณะที่ยังเก็บรักษาผิวกระดูกอ่อนด้านอื่นๆและเส้นเอ็นที่ยังอยู่ในสภาพดีไว้ วิธีนี้เริ่มมีความนิยมมากขึ้น มีการพัฒนาในเรื่องของวัสดุผิวข้อเทียม เทคนิคการผ่าตัด และเครื่องมือที่ช่วยในการผ่าตัดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจนผลการรักษาเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดีมาก อีกทั้งวิธีนี้ยังมีข้อดีกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมแบบปกติอยู่หลายประการ

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA)

UKA เป็นการผ่าตัดที่สามารถแก้ไขอาการต่างๆ ที่เกิดจากข้อเข่าเสื่อมได้ เช่น อาการเจ็บปวดในข้อ เจ็บขัดที่เส้นเอ็น อาการเข่าหลวม ข้อเข่าผิดรูป เสียงดังในเข่า การแก้ไขอาการต่างๆทำได้เทียบเท่าการเปลี่ยนข้อเข่าทั่วไปหากเลือกผู้ป่วยได้ถูกต้อง แต่ข้อดีที่เพิ่มขึ้นของการผ่าตัดวิธีนี้คือ สามารถเก็บรักษาผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ได้ ตลอดจนยังสามารถเก็บเส้นเอ็นต่างๆ ที่มีความจำเป็นเอาไว้ให้ในสภาพเดิม ทำให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดด้วยวิธีนี้สามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด ขนาดแผลจะมีขนาดเล็ก ความชอกช้ำของเนื้อเยื่อหลังผ่าตัดจะน้อยรวมถึงการเสียเลือดจากการผ่าตัดชนิดนี้ยังน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าปกติอย่างชัดเจน

ทำให้โดยรวมผู้ป่วยจะมีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้นจึงทำให้ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบปกติ การลงน้ำหนักหลังผ่าตัดทำได้ภายในเวลา 1-2 วันหลังผ่าตัด การงอเหยียดเข่าจะทำได้เหมือนปกติ รวมถึงการนั่งยองหรือนั่งขัดสมารธิจะทำได้ดีกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าบางคนสามารถกลับไปเล่นกีฬาบางประเภทได้ จากการศึกษาพบว่าข้อเทียมชนิดนี้ร้อยละ 95-97 จะมีอายุการใช้งานของข้อเทียมนานมากกว่า 10 ปี (หากผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดที่เหมาะสม)

ถึงแม้ผลการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีข้อดีมากมายแต่ยังมีข้อจำกัดบางประการสำหรับผู้ป่วยที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เช่น เป็นโรคข้อเข่าอักเสบ(Inflammatory arthropathy) เอ็นข้อเข่าขาดมาก่อน(Cruciate ligament lesion) ข้อเข่าเคลื่อน(subluxation) เข่าผิดรูปมากเกินไปหรือองศาการงอเหยียดน้อยเกินไป อีกทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนนี้ควรทำโดยแพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ที่ฝึกฝนมาโดยเฉพาะสำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ เพราะเทคนิคการผ่าตัดที่ถูกต้อง การวางตำแหน่งของผิวข้อเทียมที่เหมาะสม และการคัดเลือกผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การผ่าตัดสำเร็จและได้ผลดีกับผู้ป่วยอย่างเต็มที่

โดยสรุปแล้วการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน กำลังมาทดแทนการผ่าตัดผิวข้อเทียมแบบดั้งเดิมสำหรับผู้ป่วยที่มีผิวข้อเข่าเสื่อมเพียงบางส่วน ดังนั้นหากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจประเมินผิวข้อเข่าแต่เนิ่นๆ จะทำให้การรักษาโดยการผ่าตัดมีทางเลือกที่ดีมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการที่สงสัยภาวะข้อเข่าเสื่อมควรพยายามรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดอย่างเต็มที่เสียก่อน หากพบว่าเริ่มมีผิวข้อเสื่อมถึงระดับหนึ่งจึงพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดที่เหมาะสม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมโดยตรง

โดย : นพ. สุขสันต์ ตั้งสถาพร

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1/