Make Appointment

EXPERT’S TALK ผ่าตัดข้อเข่าเทียม ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยหรือไม่เจ็บเลย…จริงหรือ?

02 Mar 2017 เปิดอ่าน 1684

ในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งหมดเพื่อที่จะให้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยจะได้ข้อเข่าที่ใช้งานได้ดีขึ้นเหมือนกับข้อธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งการรักษานี้ถือว่าเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วโลกว่าได้ผลเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะมีความกังวลในเรื่องของอาการเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัด ซึ่งกังวลว่าอาการเจ็บนั้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

จากการศึกษาและพัฒนาเทคนิคต่างๆ เพื่อลดอาการเจ็บหลังการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทรมาน ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนกับเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก จนแทบจะรู้สึกเป็นศูนย์ในผู้ป่วยบางราย ทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ และประทับใจในการผ่าตัดด้วยการใช้เทคนิคใหม่ๆ เข้ามารักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหลังการผ่าตัดน้อยที่สุด

เทคนิคที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือเทคนิคการใช้ยาและหัตถการร่วมกันกับการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (multimodal pain management in minimally invasive surgery) การใช้เทคนิคบาดแผลเล็กจะเป็นการลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ ตั้งแต่บริเวณผิวหนังจนถึงภายในข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้อาการเจ็บหลังผ่าตัดลดลงได้ ตลอดขบวนการผ่าตัดตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาหรือการทำหัตถการหลากหลายวิธีการต่อเนื่องกัน แต่ละวิธีจะเสริมกันและกันในการลดอาการปวดแผลและเนื้อเยื่อที่ได้รับการผ่าตัด เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้วิธีเดี่ยวๆ แบบในอดีต และวิธีนี้ยังจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากแต่ละวิธีน้อยกว่า ทำให้ลดอาการเจ็บหลังจากผ่าตัดจนเกือบจะเป็นศูนย์หรือเป็นศูนย์ในบางราย

expert talk knee4 expert talk knee3

การลดอาการปวดด้วยเทคนิคดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่ การเลือกวิธีการระงับอาการปวดขณะผ่าตัด การฉีดยาชาและยาแก้ปวดเข้าทางไขสันหลังทั้งชนิดฉีดเข้าช่องบนต่อไขสันหลัง (epidural injection) และการฉีดเข้าช่องไขสันหลัง ( spinal injection) จะช่วยลดอาการปวดหลังจากการผ่าตัดได้ โดยเฉพาะการคาสาย epidural catheter ไว้หลังผ่าตัด เพื่อที่จะฉีดยาระงับปวดอย่างต่อเนื่องภายหลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเสร็จแล้ว ซึ่งจะมีประโยชน์มากเพราะอาการปวดในวันแรกหลังจากผ่าตัด จะเป็นช่วงเวลาที่อาการปวดรุนแรงที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการพิจารณาเพื่อที่จะใส่สาย epidural catheter นอกจากการให้ยาระงับปวดทางสาย epidural catheter ที่คาไว้หลังผ่าตัดแล้ว การระงับปวดอย่างต่อเนื่องทางสายที่คาไว้บริเวณต้นขา เพื่อที่จะระงับอาการปวดบริเวณแผลผ่าตัด (continuous femoral block) มีการศึกษาที่พบว่าได้ผลดีด้วยเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนต่อไปก่อนการปิดแผลผ่าตัดแพทย์จะใช้ยาฉีดที่มีส่วนผสมของยาลดปวด ลดอักเสบ และตัวยาที่เสริมให้ยาแก้ปวดคงอยู่ได้นานขึ้น ฉีดในบริเวณเนื้อเยื่อรอบบริเวณที่ทำการผ่าตัด เพื่อเป็นการลดอาการเจ็บที่ต้นเหตุ คือ เนื้อเยื่อที่ชอกช้ำจากการผ่าตัด วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมให้อาการเจ็บลดลงในช่วง 1-2 วันหลังผ่าตัดโดยที่มีผลข้างเคียงน้อยมาก อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลและยังช่วยให้การใช้งานข้อเข่าหลังการผ่าตัดดีขึ้น สูตรยาที่ใช้ฉีดในข้อเข่ามีความหลากหลาย แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับยาระงับอาการปวดหลากหลายกลุ่ม เพื่อที่จะทำงานร่วมกันในการควบคุมอาการปวด ยาแต่ละชนิดจะลดอาการปวดด้วยขบวนการที่ต่างกัน เช่น ยาระงับปวดกลุ่ม opioid, ยาต้านการอักเสบ, ยาบรรเทาอาการปวดและยาคลายกังวล

ปัจจัยสุดท้ายที่แพทย์ไม่สามารถควบคุมได้ คือ ระดับความอดทนต่ออาการปวดในผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยได้รับการอธิบายถึงการผ่าตัด การระงับปวดและการควบคุมอาการปวดเป็นอย่างดีแล้ว ก็น่าจะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วยไปได้มาก ทำให้ผู้ป่วยมีระดับของความทนต่อการปวดได้ดีขึ้น และอาจนำไปสู่การผ่าตัดที่มีอาการเจ็บเป็นศูนย์หรือเกือบเป็นศูนย์ได้ ผู้ป่วยจะประทับใจต่อผลการผ่าตัดและมีความสุขกับข้อเข่าที่ใช้งานได้ดีกว่าเดิม และกลับไปใช้ชีวิตกับลูกหลานได้อย่างมีความสุข

โดย : นพ. สุขสันต์ ตั้งสถาพร

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1/