นัดพบแพทย์

กระดูกพรุน...ภัยเงียบ อันตรายถึงชีวิต

14 Sep 2016 เปิดอ่าน 1291

   ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ในปัจจุบันมนุษย์มีอายุขัยโดยเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ แน่นอนว่าทุกอย่างในร่างกายย่อมเสื่อมสภาพลงตามไปด้วย และส่วนหนึ่งของร่างกายที่พบการเสื่อมสภาพได้บ่อยก็คือกระดูก  ซึ่งในกรณีของกระดูกพรุนนั้น หากไม่ได้รับความใส่ใจ ละเลยปัญหาจนกระทั่งเกิดกระดูกหัก ก็อาจเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตได้ในชั่วข้ามคืน

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

โดยปรกติกระดูกมนุษย์ที่บางและพรุนจะเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ
1.    เกิดจากการหมดประจำเดือนและเป็นไปตามธรรมชาติ
2.    ปัจจัยอื่น ๆ  เช่น ความผิดปรกติของต่อมไร้ท่อ ภาวะขาดวิตามินดี

จะหญิงหรือชายก็เป็นโรคกระดูกพรุนได้

โรคกระดูกพรุนนอกจากจะเกิดขึ้นในผู้หญิงแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นในผู้ชายได้เช่นกัน โดยโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงพบได้ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรหญิง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว และยิ่งอายุมากขึ้น ก็จะพบโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้น โดยในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป จะพบโรคกระดูกพรุนได้ถึง 50 % ส่วนในผู้ชายพบโรคนี้ได้ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากร  และถึงแม้จะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยกว่าผู้หญิง แต่ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่า

อาการอย่างไรเข้าข่ายโรคกระดูกพรุน?

    อาการของโรคกระดูกพรุนที่สามารถสังเกตเห็นได้ก็คือ ความสูงลดลง ปวดเมื่อยเนื้อตัว โดยไม่มีสาเหตุ หลังโกง หลังคด มีอาการปวดร้าวจากบริเวณหลังลงไปที่ขา กระดูกหักได้ง่ายแม้จากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ

กระดูกหัก ฟางเส้นสุดท้ายของโรคกระดูกพรุน   

    ปัญหากระดูกหักอันเปรียบเหมือนฟางเส้นสุดท้ายของผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน โดยในแต่ละปีสามารถพบผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนได้ประมาณ 10,000 ราย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยกระดูกหัก วิธีการรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบันก็คือการผ่าตัด แต่ถึงแม้จะได้รับการผ่าตัด ผู้ป่วยเหล่านี้ก็ยังมีโอกาสเสียชีวิต โดยพบได้ 17 – 18 รายต่อปี

การป้องกัน

  1. หมั่นสังเกตตนเองว่าความสูงลดลงหรือไม่
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้ปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคนไทยได้รับปริมาณแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ย 350 มิลลิกรัมต่อวัน ในขณะที่ร่างกายต้องการปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่ต้องการเพิ่มประมาณ 650 มก. อาจได้มาจากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม น้ำเต้าหู้ สัตว์ตัวเล็ก หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม
  3. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ โดยในผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการวิ่งหรือกระโดด แต่อาจออกกำลังกายด้วยการเดินสลับวิ่ง หรือเดินเป็นระยะทางไกลหรือนานขึ้น โดยควรออกกำลังกาย 3 – 5 วัน ต่อสัปดาห์
  4. เมื่ออยู่ในช่วงอายุที่เสี่ยง ควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์

นวัตกรรมการรักษาโรคกระดูกพรุน

    สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน ปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก โดยนวัตกรรมในการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้น แบ่งออกได้ 2 ประการคือ

  1. นวัตกรรมทางยา ปัจจุบันยารักษาโรคกระดูกพรุนมีการพัฒนาไปมาก เพื่อให้สะดวกต่อการรับประทาน ซึ่งมียาชนิดรับประทานที่สามารถรับประทานสัปดาห์ละเม็ด เดือนละเม็ด หรือยาฉีดที่ฉีดปีละครั้ง และยาก็จะออกฤทธิ์จำกัดเซลล์ที่เป็นตัวการของปัญหา และไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานมากขึ้น กระดูกก็จะแข็งแรงและมีสภาพดีขึ้น
  2. นวัตกรรมทางใจ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ ใส่ใจ และทำในสิ่งที่ควรทำของผู้ป่วย

    สำหรับนวัตกรรมทั้งสองอย่างนี้ต้องใช้ควบคู่กันไป เพราะแม้ว่ายาจะดี แต่จะไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย หากไม่สร้างเสริมร่างกายให้แข็งแรงและไม่มีการแก้ไขสภาพแวดล้อมในบ้านไม่เหมาะสม เพื่อป้องกันการหกล้ม อันเป็นสาเหตุหลักของกระดูกหัก

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=72&menu=