นัดพบแพทย์

กระดูกสะโพกหักในผู้สูงวัย

01 Sep 2016 เปิดอ่าน 2370

กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักเกิดจากการลื่นหกล้มภายในบ้าน มีสาเหตุหลักจากภาวะกระดูกพรุน อาการและอาการแสดง หลังจากล้มผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณสะโพกหรือขาหนีบ ส่วนใหญ่จะไม่สามารถลุกยืนหรือเดิน อาจสังเกตพบความผิดปกติ ดังนี้ ขาด้านที่ปวดอาจดูสั้นลงกว่าด้านตรงข้าม ขาด้านที่ปวดจะบิดออกด้านนอกมากกว่าปกติ การขยับขาเพียงเล็กน้อยจะทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง จ้ำเลือดบริเวณสะโพกและต้นขาเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง
          ประเภทกระดูกสะโพกหักที่พบบ่อย

คือ 1.คอกระดูกสะโพกหัก เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างข้อสะโพกและกระดูกต้นขา

     2.ฐานกระดูกสะโพกหัก เป็นส่วนบนของกระดูกต้นขา


          โดยทั่วไปผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดตามกระดูก หรือเปลี่ยนสะโพกเทียม เพื่อลดอาการปวดและมีโอกาสจะกลับมาเดินหรือใช้ชีวิตประจำได้เหมือนก่อนที่จะสะโพกหัก การรักษาโดยไม่ผ่าตัดจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปวดบวม การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
          ผลกระทบของภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยสูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหักส่วนหนึ่งอาจไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน และช่วยเหลือตัวเองดังเช่นก่อนที่จะเกิดกระดูกหักได้ ต้องใช้รถเข็นหรือมีผู้ช่วยดูแลตลอดเวลา ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลที่สูงขึ้น จนอาจทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวได้
          การป้องกันภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุน คือ ให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างพอเพียง รับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า เพื่อกระตุ้นการสร้างวิตามิน ดี ในร่างกาย หากไม่สามารถทำได้ต้องรับประทานอาหารเสริม แคลเซียม และวิตามิน ดี ตรวจวัดมวลกระดูกในผู้ที่มีอายุ 60-65 ปีขึ้นไป รับการรักษาโดยสม่ำเสมอเมื่อพบว่ามีภาวะกระดูกพรุน

 

 นพ.สีหธัช งามอุโฆษ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.hed.go.th/news/364