นัดพบแพทย์

การดูแลรักษาอัลไซเมอร์

24 Aug 2016 เปิดอ่าน 3571

อาการของโรคอัลไซเมอร์มันมีอาการค่อยเป็นค่อยไป แต่จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาการที่เกิดขึ้นนั้นจะไปกระทบกระบวนการความจำปัจจุบันหรือที่เพิ่งได้รับทราบมาเมื่อไม่นาน กระทบกระเทือนต่อความคิด การใช้เหตุผล และเมื่อโรคดำเนินต่อไปก็จะกระทบกับการใช้ภาษา การหาคำเวลาพูด ความเข้าใจ การฟัง การอ่าน การใช้เหตุผล การคำนวณ การคิดเลข หรือแม้กระทั่งหลงทางกลับบ้านไม่ถูก

อาการเหล่านี้ในระยะเริ่มแรกนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นตลอด บางครั้งผู้ป่วยยังดูดีอยู่ ความผิดปกติที่มากขึ้นเหล่านี้จะมีผลต่อการวางแผนต่อการตัดสินใจซึ่งขึ้นกับเหตุผลการชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้ผลเสีย และในที่สุดก็จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆ หงุดหงิด โมโหหรือมีอาการซึมเศร้า ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัว ซึ่งฉบับนี้ก็มาว่ากันถึงวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ต่อ


การรักษาโรคอัลไซเมอร์
การรักษาทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ยา
เป็นการรักษาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ผู้ป่วยต้องการการดูแลที่ถูกต้องอย่างใกล้ชิด


ระยะที่หนึ่ง การดูแลผู้ป่วยระยะนี้เริ่มตั้งแต่การให้เวลาผู้ป่วยในการตอบคำถามหรือการตอบสนองกับสิ่งรอบข้าง เนื่องจากผู้ป่วยจะเชื่องช้าลงจากการทำงานของสมองที่เสียไป ควรจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวลโดยบอกขั้นตอนทีละลำดับช้าๆ เพื่อให้ผู้ป่วยทำตามได้และควรจัดให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเป็นช่วงๆซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้น


ระยะที่สอง การดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ ควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยจัดกิจวัตรประจำวันให้กับผู้ป่วยเพื่อจะได้ปรับตัวง่ายขึ้น บางครั้งควรทบทวนในสิ่งที่ผู้ป่วยพูดและเน้นสรุปในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการจะสื่อเพื่อช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ปฏิทินตัวใหญ่ๆ การแขวนนาฬิกาให้ผู้ป่วยเห็นได้ง่าย นอกจากนี้ญาติและคนในครอบครัวของผู้ป่วยต้องช่วยกันสังเกตประเมินในเรื่องความสามารถในด้านต่างๆรวมทั้งสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยโดยเทียบกับพฤติกรรมเดิมเพื่อให้ทราบความสามารถที่ลดลงในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในช่วงนั้นๆได้


ระยะที่สาม การดูแลผู้ป่วยระยะนี้จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญญาติต้องคอยดูและปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วยที่ถดถอยลง ในรายที่มีอาการโรคจิต หูแว่ว จำเป็นต้องพบแพทย์และรับประทานยาเพื่อควบคุมพฤติกรรมที่เป็นปัญหา


ระยะที่สี่ การดูแลผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้เลย รวมถึงเรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น เรื่องการรับประทานอาหารซึ่งผู้ป่วยอาจเคี้ยวหรือกลืนอาหารเองไม่ได้ การเตรียมอาหารที่บดหยาบและไม่เหลวจนเกินไปจะช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานได้ง่ายขึ้น พยายามป้อนน้ำทีละน้อยแต่บ่อยเพื่อลดภาวการณ์ขาดน้ำของผู้ป่วย นอกจากนี้การดูแลเรื่องการขับถ่ายเป็นสิ่งสำคัญพยายามพาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำให้ถี่ขึ้นเพื่อลดการถ่ายเรี่ยราดรวมทั้งดูแลเรื่องความสะอาดของร่างกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนังด้วย


การรักษาด้วยยา
การรักษาทั่่วไป ได้แก่ การให้ยารักษาตามอาการอื่นที่ผู้ป่วยมี เช่น การใช้ยาควบคุมจิตใจให้สงบ ควบคุมพฤติกรรมที่ก้าวร้าว เช่น ให้ยานอนหลับ ยาแก้อาการเกร็งในผู้ป่วยที่มีอาการพาร์กินสันร่วมด้วยใส่ท่อสายยางเข้าทางหลอดอาหารเพื่อให้ยาและอาหารสำหรับผู้ที่รับประทานเองไม่ได้
การรักษาด้วยยาเฉพาะของโรคอัลไซเมอร์ การใช้ยารักษาโรคอัลไซเมอร์มีการถกเถียงกันมาก เช่น ผลที่จะได้มีมากน้อยแค่ไหน การเกิดผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงในผู้ป่วยบางราย ราคายาที่ค่อนข้างแพง เป็นต้น
เนื่องจากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีการขาดสาร Acetylcholine ในสมอง ดังนั้นจึงมีการใช้ยาบางอย่างเพื่อเพิ่มสาร Acetylcholine นี้ ที่ใช้กันอยู่ได้แก่ Aricept (Donepezil) Exelon (Rivastigmine) Reminyl ( Galantamine) เป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อยและช่วยลดอาการสมองเสื่อมได้ดีพอสมควรในผู้ป่วยที่มีอาการในระยะที่ 1 และ 2 (คือมีอาการน้อยถึงปานกลาง) ยานี้ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยาของไทยให้ใช้ได้ ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถลดสารอมีรอยด์ (Amyloid plague) ในสมองได้บ้าง ได้แก่ Ebixa (Me-mantine)

สรุปข้อความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์
1. อัลไซเมอร์เป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเพียงภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติหรือตามอายุที่มากขึ้นเท่านั้น
2. ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ที่แน่ชัด คิดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดังนั้นโรคนี้จึงอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
3. ขณะนี้โรคอัลไซเมอร์ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้และยังไม่มีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดได้
4. การดูแลผู้ป่วยที่ใกล้ชิด ให้ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์
5. ถ้ามีญาติที่เริ่มมีอาการหลงลืมควรนำไปตรวจกับแพทย์ระบบประสาทหรือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโรคอัลไซเมอร์ก็ได้ ผู้ป่วยบางรายความจำเสื่อมเกิดจากความผิดปกติอื่นของสมองซึ่งสามารถให้การรักษาให้หายขาดหรืออาการดีขึ้นเป็นอย่างมากไม่เหมือนโรคอัลไซเมอร์
6. โรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ที่รู้สึกว่าหลงลืมบ่อยโดยที่อายุไ่ม่มาก เช่น 20-50 ปี มักเกิดจากสาเหตุอื่น ส่วนมากเกิดจากการพักผ่อนไม่พอ เครียด ไม่มีสมาธิ ถ้าการรักษาทั่วไปไม่ดีขึ้นจึงค่อยปรึกาษแพทย์
7. เนื่องจากยังไม่มีวิธีการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแม่นยำ การวินิจฉัยจะอาศัยการแยกภาวะหรือโรคอื่นที่ทำให้เกิดความจำเสื่อม (Differential diagnosis)
8. ไม่ควรกลัวโรคนี้จนเกินไป เนื่องจากขณะนี้มีการวิจัยเรื่องนี้มากมายทั่วโลก เชื่อว่าในอนาคตอาจมียาหรือวิธีการรักษาหรือป้องกันได้
9. ในทางการแพทย์ยังไม่แนะนำให้รับประทานยาใดๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรค เนื่องจากไม่แน่ชัดว่าจะได้ผล เช่น การใช้ยาสมุนไพร อาหารเสริมต่างๆ

ศาสตราจารย์ นพ.พยงค์ จูฑา

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.somdet.go.th/Knowledge_(saranarue)/5.php