ปวดท้อง จุกเสียด เรอ แน่นหน้าอก ไม่อยากอาหาร ไม่เจริญอาหาร ทานอาหารได้น้อยลง พ่อแม่ไม่ควรชะล่าใจ เพราะลูกน้อยอาจเสี่ยงติดเชื้อ H. Pylori ต้นเหตุของโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหารในเด็ก ซึ่งหากปล่อยไว้จะทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าและมีผลต่อพัฒนาการเด็กได้
ทำความรู้จัก เชื้อ H. Pylori (เอชไพโลไร)
H. Pylori (Helicobacter Pylori) หรือเชื้อเอชไพโลไร เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร ซึ่งเชื้อจะปะปนมากับน้ำ โดยเชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร โดยเชื้อจะเข้าไปเกาะที่เยื่อบุของกระเพาะอาหารและทำลายเนื้อเยื่อทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร แต่บางรายเชื้ออาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นรวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
อาการของเด็กที่ติดเชื้อ H. Pylori เป็นอย่างไรนะ
ในบางรายไม่มีอาการแสดง แต่ในบางรายที่แสดงอาการ จะมีอาการปวดท้อง จุกเสียด เรอ แน่นหน้าอก ไม่อยากอาหาร ไม่เจริญอาหาร ทานอาหารได้น้อยลง ทานอาหารแล้วทำให้ปวดท้อง ปวดท้องในเวลากลางดึก ซึ่งเชื้อ H. Pylori จะทำให้การเจริญเติบโตในเด็กลดลงเพราะเด็กจะทานอาหารได้น้อย ทำให้ขาดสารอาหาร เป็นต้น
รักษาการติดเชื้อ H. Pylori (เอชไพโลไร) ได้ด้วยวิธีใดบ้าง
การรักษาด้วยยา เป็นสูตรตามมาตรฐานการรักษาของประเทศไทยและทั่วโลก โดยในประเทศไทยมียาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด และยาลดกรด 1 ชนิด ในระดับของเด็กที่ทานยาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะวินิจฉัยให้ยาในกลุ่มอื่นเพิ่มเติม ในขั้นต่อไป
ก่อนการรักษาด้วยยา แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอะไรบ้าง
- การตรวจอุจจาระ เป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติเจน ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori
- การตรวจโดยการเป่าแบคทีเรีย เป่าลมหายใจเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย (Urea breath test) ก่อนทำการทดสอบผู้ป่วยต้องงดอาหารประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจใส่ถุงเพื่อทดสอบในถุงแรกก่อนการทานยา และหลังจากนั้นแพทย์จะให้ทานเม็ดยาเพื่อทดสอบ และทำการนั่ง นอน และนอนตะแคง เป็นเวลา 15 นาที และผู้ป่วยเป่าลมหายใจในถุงทดสอบที่ 2 ถ้าในรายที่มีแบคทีเรียอยู่ในกระเพาะเม็ดยาจะสลายทำให้เกิดสารยูเรียออกมา ทำให้เกิดผล Positive ได้ แต่ในเด็กที่ไม่มีเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารจะไม่สามารถสลายเม็ดยาได้ ทำให้เกิดผล Negative ความเชื่อมั่นในการตรวจหาเชื้อ โดยการตรวจอุจจาระและการตรวจโดยการเป่าแบคทีเรียนั้นแม่นยำกว่า 90 เปอร์เซนต์ แต่เนื่องจากในเด็กเล็กอาจใช้วิธีการตรวจโดยการเป่าแบคทีเรียไม่ได้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจโดยการเก็บอุจจาระแทน โดยผลการตรวจทั้ง 2 วิธีสามารถรู้ผลได้ภายใน 1- 2 ชั่วโมง
- การส่องกล้อง ในเด็กบางรายที่มีอาการปวดท้องมาก ทานอาหารได้น้อยมาก และในตอนกลางคืนตื่นนอนเพราะปวดท้องนั้น ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการส่องกล้องเพื่อตรวจเช็กพยาธิสภาพ ดูเนื้อเยื่อภายใน อีกทั้งการส่องกล้องสามารถนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเชื้อ Helicobacter Pylori ได้ด้วย นอกจากนั้นแล้วการส่องกล้องยังสามารถตรวจดูเนื้อเยื่อภายในว่าเป็นอย่างไร เกิดการอักเสบรุนแรงหรือไม่ เป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ มีกรดไหลย้อนร่วมด้วยไหม
ในเด็กเล็กที่ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการตรวจอุจาระหรือการตรวจโดยการเป่าแบคทีเรีย หลังจากทานยาและไม่หายขาด แพทย์จะแนะนำให้ตรวจด้วยการส่องกล้องต่อไป หรือในเด็กที่ดื้อยาแพทย์จะแนะนำให้ตรวจหาเชื้อโดยการส่องกล้องเพื่อนำผลชิ้นเนื้อไปทดสอบ และเพาะเชื้อว่าเป็นกลุ่มที่ดื้อยาหรือไม่ หลังจากที่รับประทานยาตามมาตรฐานครบ 10-14 วัน แล้ว และอาการเริ่มดีขึ้น หลังจากนั้นต้องหยุดยาเป็นเวลา 1 เดือน และทำการทำสอบซ้ำ โดยการตรวจอุจจาระ หรือ การเป่าลมหายใจ เพื่อตรวจเช็กว่ายังมีเชื้อ Helicobacter Pylori อยู่หรือไม่ ซึ่งถ้ายังมีเชื้ออยู่และยังไม่เคยส่องกล้อง แพทย์จะแนะนำให้ส่องกล้องในครั้งต่อไป ในกรณีที่ตรวจซ้ำและไม่พบเชื้อก็ไม่จำเป็นต้องส่องกล้องอีก
ข้อเสียของเชื้อ H.pylor ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน และไม่ได้รับการรักษา ในอนาคต 1% ในผู้ใหญ่เชื้อจะกลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ดังนั้น ถ้ามีอาการควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ และรักษาได้โดยเร็ว โดยในเด็กถ้าปล่อยไว้จะทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าและมีผลต่อพัฒนาการเด็กได้
พญ. รพีพร วิศิษฐานนท์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2