นัดพบแพทย์

การปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

02 Dec 2016 เปิดอ่าน 44691

การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬานั้นมีประโยชน์ แต่หากทำโดยไม่ถูกวิธีก็อาจจะเกิดโทษได้ เช่น เกิดการบาดเจ็บขึ้น ดังนั้นก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาควรวอร์มร่างกายก่อนทุกครั้งอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ อีกทั้งกีฬาแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป หากจะเลือกเล่นกีฬาชนิดใดก็ควรศึกษาให้ดีก่อน เช่น หากชอบเล่นแบดมินตัน ควรเริ่มตั้งแต่เลือกไม้ให้เหมาะสม น้ำหนักกำลังพอดี เพื่อไม่ให้เกิดความเมื่อยล้าหรือการบาดเจ็บ หากชอบเดินหรือวิ่ง ก็ควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมและสถานที่ที่เหมาะกับการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ร่างกายของแต่ละคนมีความทนทานไม่เท่ากัน หากหักโหมเล่นกีฬาติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจจะเป็นลมหรือบาดเจ็บได้ การเล่นกีฬาที่ได้ประโยชน์ จึงควรเลือกให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ไม่หนักเกินไป ไม่นานเกินไป แต่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ จะเป็นผลดีต่อสุขภาพที่สุด

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอาจแบ่งได้เป็น2 ประเภทได้แก่

  • อาการบาดเจ็บเฉียบพลัน คือการบาดเจ็บเกิดขึ้นทันที เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก
  • อาการบาดเจ็บเรื้อรัง คืออาการบาดเจ็บที่เกิดซ้ำๆ ที่เดิมและสะสมมานาน เช่น การวิ่ง ทำให้หัวเข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทก จะทำให้เกิดการสึกกร่อนจนเกิดอาการข้อเข่าเสื่อมขึ้นได้

อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬาชนิดต่างๆได้แก่

  • วิ่งหรือเดิน อาจทำให้ข้อเท้าแพลง เอ็นข้อเท้าหรือเอ็นหัวเข่าฉีกขาด กล้ามเนื้ออักเสบ หรือเป็นโรคเข่า
  • แบดมินตัน อาจทำให้กล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอก เอ็นข้อเท้าฉีกขาด เจ็บหัวเข่า หรือปวดข้อศอก
  • เทนนิส อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นฉีก กระดูกข้อมือหัก ข้อศอกหลุด ปวดสะโพก หรือเป็นโรคเข่า
  • ว่ายน้ำ อาจทำให้ไหล่หลุด หรือเป็นหูน้ำหนวก
  • ฟุตบอล อาจทำให้ไหล่หลุด กระดูกหักหรือหลุด หรือเกิดบาดแผลจากการปะทะกันของผู้เล่นหรือลูกบอล
  • กอล์ฟ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนิ้วมือบวมพองจากการเสียดสีกับไม้กอล์ฟ เกิดข้ออักเสบ ไหล่หลุด หรือปวดหลัง
  • บาสเกตบอล อาจทำให้ข้อเท้าเคล็ด เอ็นข้อเท้าฉีก นิ้วหลุดหรือหัก ไหล่หลุด แขนหัก หรือเกิดบาดแผลจากการปะทะกัน

หลักเบื้องต้นในการปฐมพยาบาลมีดังนี้

  • หากเกิดการบาดเจ็บขึ้น ควรหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่ควรฝืนเล่นต่อไป
  • การประคบเย็นใน 1-2 วันแรกหลังเกิดการบาดเจ็บจะช่วยลดอาการปวดบวมลงได้ โดยใช้ cold pack หรือ ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบตรงบริเวณที่บาดเจ็บประมาณ 15 นาที เว้นไปประมาณ 10 นาที แล้วจึงประคบอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดการบาดเจ็บ
  • การรัดด้วยผ้ายืดบริเวณที่บาดเจ็บจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวมมากขึ้น แต่ต้องระวังไม่รัดให้แน่นจนเกินไปจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากมีอาการชา ควรคลายผ้ารัดออก แล้วจึงค่อยพันใหม่
  • หากบาดเจ็บบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อเป็นการห้ามเลือดหรือป้องกันไม่ให้ของเหลวในร่างกายไหลไปยังบริเวณที่ บาดเจ็บ

หลักการดังกล่าวใช้ในกรณีที่มีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย หากเป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรง หลังจากปฐมพยาบาลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

 


โดย พ.ญ.ขวัญจิตร โภคาผล อายุรแพทย์

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://www.phuketinternationalhospital.com/articles/5?locale=th