นัดพบแพทย์

การเก็บเลือดสายสะดือทารก (Banking Your Newborn"s Cord Blood)

26 Sep 2016 เปิดอ่าน 2815

เลือดสายสะดือทารกเป็นเลือดส่วนที่เหลือในสายสะดือส่วนที่ติดกันกับรก ซึ่งปกติจะถูกทิ้งไปพร้อมกับรก การเก็บเลือดสายสะดือทารกเป็นขั้นตอนที่ง่ายและปลอดภัยการเก็บจะเกิดหลังจากคลอดทารกอย่างปลอดภัยแล้ว แพทย์จะทำการผูกและตัดสายสะดือตามปกติ หลังจากนั้นแทนที่จะทิ้งรก แพทย์จะเก็บเลือดที่ยังคงเหลือในสายสะดือเพื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเลือดสายสะดือทารกแช่แข็ง ได้หลายสิบปี

เซลล์ต้นกำเนิดเลือดสายสะดือทารกสามารถนำไปปลูกถ่ายรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆหลายชนิดให้หายขาดได้ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็ง myeloma โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด โรคไขกระดูกบกพร่องจากพันธุกรรม โรคไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น

โรคเหล่านี้ถ้ารุนแรงมากพอก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเลือด เป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคดังกล่าว แต่การปลูกถ่ายจะกระทำได้เมื่อได้ปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดเพียงพอ มีคุณภาพ ไม่ปนเปื้อน และมีชนิดเนื้อเยื่อ HLA ระหว่างผู้ให้และผู้รับตรงกันเสียก่อน

การใช้เลือดสายสะดือทารก

1.ระหว่างพี่น้องท้องเดียวกันมีมากกว่าร้อยละ 25 (ขึ้นกับจำนวนพี่น้องของผู้ป่วย)*

2.จากผู้บริจาคถ้าไม่มีพี่น้องหรือมีชนิดเนื้อเยื่อไม่ตรงกัน แพทย์จะหาจากแหล่งบริจาคอื่น (ไขกระดูกหรือเลือดสายสะดือทารกบริจาค) ที่ไม่ใช่สายเลือดของผู้ป่วยแต่มีเนื้อเยื่อ HLA เข้ากันได้แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะหาพบ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทยได้ริเริ่มธนาคารเลือดสายสะดือทารกตั้งแต่ พ.ศ.2544ปัจจุบันมีการเก็บเลือดสายสะดือทารกของผู้บริจาคมากกว่า 260 หน่วย ปัจจุบันได้มีการปลูกถ่ายเลือดสายสะดือทารกของผู้บริจาคไปแล้ว 11 ราย

3.จากตนเอง การเก็บเลือดสายสะดือทารกสำหรับทารกตนเองเพื่อประกันว่าถ้าลูกเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดให้หายขาด ลูกก็จะมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตัวเองให้ใช้ได้

*สำหรับครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อโรคพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคเลือดจางทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย และรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ในสตรีตั้งครรภ์ที่เคยมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย และได้รับการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอดแล้วว่าไม่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ขณะนี้สามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการตรวจชนิดเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์กับพี่ที่เป็นโรค และการจัดเก็บเลือดสายสะดือทารก จากโครงการวิจัย Stem cell คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายละเอียดของโครงการติดต่อสอบถามที่เบอร์โทรศัพท์ 089-693-8765 หรือ 0-2256-4824

 

รศ.นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://elib.fda.moph.go.th/2008/default.asp?page2=subdetail&id=7988