ความพิเศษของครรภ์แฝด ที่มาพร้อมความเสี่ยง !!!

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 1924

จุดกำเนิดของแฝดแท้และแฝดเทียมนั้นมีที่มาแตกต่างกัน โดยที่

+++ แฝดแท้ (Monozygotic twins หรือ Identical twins) ถือกำเนิดจาก ไข่ 1 ใบ ผสมกับ ตัวอสุจิ 1 ตัว กลายเป็นตัวอ่อน 1 ตัว แต่ภายหลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว ตัวอ่อนกลับเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมามากกว่า 1 จึงได้เป็นตัวอ่อนอีกตัวที่มีต้นกำเนิดเดียวกัน ดังนั้นแฝดแท้จึงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน และมี DNAเหมือนกันทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แฝด 1 แฝด 2 แฝด 3 หรือมากกว่านี้ก็ตาม

+++ แฝดเทียม (Dizygotic twins หรือ Fraternal twins) ถือกำเนิดจากมี ไข่มากกว่า 1 ใบ ผสมกับ ตัวอสุจิ จึงทำให้มีตัวอ่อนเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตัว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าบังเอิญในรอบเดือนนั้นฝ่ายหญิงมีการตกไข่เกิดขึ้นมากกว่า 1 ใบ จึงทำให้มีไข่ที่ได้รับการผสมกับตัวอสุจิมากกว่า 1 ใบ จึงเกิดเป็นตัวอ่อนหลายตัว จึงถือได้ว่าตัวอ่อนแต่ละตัวมีต้นกำเนิดแตกต่างกัน ดังนั้นแฝดเทียมจึงมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน อาจดูคล้ายกัน เพศอาจจะเหมือนหรือต่างกันเลยก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญคือ มี DNA แตกต่างกัน การตั้งครรภ์แฝดเทียมนั้นสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติทางครอบครัวฝ่ายหญิง หากพบว่าฝ่ายหญิงมีประวัติการตั้งครรภ์แฝดเทียมในบรรดาเครือญาติ โอกาสที่หญิงนั้นจะตั้งครรภ์แฝดเทียมจะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับหญิงทั่วไป

ส่วนสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดเทียมนั่นก็คือ กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เพราะในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกนั้น หากทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปมากกว่า 1 ตัว ก็เป็นไปได้ว่าตัวอ่อนทุกตัวที่ย้ายเข้าไปมีโอกาสฝังตัวและเจริญเติบโตต่อเป็นฝาแฝดที่มีต้นกำเนิดแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หากย้ายตัวอ่อน 2 ตัว สามารถได้เด็กทารก 2 คน ที่หน้าตาคล้ายกัน เพศอาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้

แต่ก็มีบางกรณีที่ทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไป 2 ตัว แต่สุดท้ายแล้วกลับได้เป็นเด็กทารกมากกว่า 2 คน ซึ่งอาจเกิดจากตัวอ่อนตัวใดตัวหนึ่งมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมาในภายหลัง กลายเป็นว่ามีทั้งแฝดแท้และแฝดเทียมในคราวเดียวกัน หรือบางกรณีอาจเกิดจากการที่มีแค่ตัวอ่อนเพียงตัวเดียวที่ฝังตัวได้จากตัวอ่อนทั้งหมด 2 ตัวที่ย้ายกลับเข้าไป แล้วตัวอ่อนที่ฝังตัวได้นั้นเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเป็นแฝดแท้ 3 ตัวก็เป็นได้ ซึ่งการจะสรุปว่าเป็นฝาแฝดแบบไหนนั้นอาจต้องอาศัยประวัติ การทำอัลตร้าซาวน์ช่วงฝากครรภ์ จำนวนถุงน้ำคร่ำ จำนวนรก ตลอดจนหน้าตาและเพศของเด็กทารกเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยว่าเป็นฝาแฝดชนิดใดในภายหลัง

ดังนั้นกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ใช่ว่าจะทำให้เกิดเด็กแฝดเสมอไป ขึ้นกับว่าตัวอ่อนทุกตัวที่ย้ายกลับเข้าไปสามารถฝังตัวและเจริญเติบโตต่อได้ครบทุกตัวหรือไม่ และแม้ว่าหากเกิดการตั้งครรภ์ที่มีทารกมากกว่า 1 เกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นอีกว่าจะเป็นแฝดแท้ที่หน้าตาเหมือนกันและเพศเดียวกันเสมอไป

ทางการแพทย์ถือว่าการตั้งครรภ์แฝดเป็นภาวะแทรกซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารกในครรภ์

ผลกระทบต่อมารดา เช่น มีอาการแพ้ท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง ท้องแตกลาย ปวดหลัง รกเกาะต่ำ ครรภ์เป็นพิษ เบาหวาน คลอดก่อนกำหนด มดลูกแตก ตลอดจนมีโอกาสผ่าตัดคลอดสูงขึ้น
ผลกระทบต่อทารก เช่น ทารกคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตอาจชักนำให้สุขภาพของทารกอีกคนแย่ลงหรือแท้งตามไปด้วย ภาวะแย่งสารอาหารกันทำให้เจริญเติบโตไม่เท่ากัน ภาวะน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย และปัญหาต่างๆที่จะตามมาจากคลอดก่อนกำหนด เช่น ปอดไม่แข็งแรง ติดเชื้อง่าย ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมาก
การตั้งครรภ์ “แฝดแท้” ถือได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่อสุขภาพทารกในครรภ์ได้มากกว่าการตั้งครรภ์ “แฝดเทียม” จากที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้นที่ว่าการตั้งครรภ์ “แฝดแท้” นั้นเกิดจากการที่ตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมามากกว่า 1 ภายหลังจากที่ตัวอ่อนได้ฝังตัวในโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว หากการแบ่งตัวนั้นเกิดขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว ตัวอ่อนก็สามารถแบ่งตัวแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ มีถุงน้ำคร่ำเป็นตัวแยกให้ตัวอ่อนแต่ละตัวแยกออกจากกันโดยอยู่ในถุงน้ำคร่ำคนละถุง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์จึงเกิดขึ้นได้น้อย แต่หากตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัวล่าช้า แม้ว่าตัวอ่อนจะสามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็อาจต้องมาอาศัยอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำถุงเดียว ซึ่งโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสายสะดือพันกัน อาจก่อให้เกิดปัญหาทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ หรือในกรณีที่การแบ่งตัวเกิดขึ้นล่าช้าจนเกินไปทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีร่างกายบางส่วนติดกัน ที่เรียกว่า แฝดสยามอิน-จัน (Conjoined twin) อย่างที่เราๆเคยได้ยินกันนั่นเองครับ

การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้วนั้นมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ปลอดภัยทั้งมารดาและทารก ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดเหมือนที่หลายๆท่านเข้าใจผิดแต่อย่างใด เพราะการตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการทำเด็กหลอดแก้วที่ส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นแล้วการตั้งครรภ์ที่มีทารกเพียงคนเดียว จึงมีความปลอดภัยมากกว่าเพราะสามารถดูแลเอาใจใส่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนปัญหาความเสี่ยงต่างๆตลอดช่วงการตั้งครรภ์ก็น้อยกว่าการตั้งครรภ์แฝด ผมจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนทัศนะคติเกี่ยวกับการมีลูกแฝดว่า อย่ามองแต่เพียงความน่ารักของเด็กแฝดแล้วเกิดความคิดที่อยากจะมีลูกแฝดเหมือนครอบครัวอื่นๆ แต่อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัย ความสมบูรณ์ของทารก ตลอดจนสุขภาพของมารดาและลูกน้อยในครรภ์มาเป็นอันดับแรก เพราะแม้จะมีหลายครอบครัวที่โชคดีมากๆที่สามารถผ่านความเสี่ยงต่างๆมากมายตลอดช่วงการตั้งครรภ์แฝดมาได้ แต่ก็มีครอบครัวอีกไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังจากการสูญเสียทารกในครรภ์ไปจากการตั้งครรภ์แฝดเช่นกันครับ

โดย : นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://fit4funrelax.com