นัดพบแพทย์

เตือนสิงห์นักดวด ‘ดก’รัวๆ แค่วันละกระป๋อง-ทุกวัน เสี่ยง ‘กระดูกสะโพกตาย’

23 Feb 2016 เปิดอ่าน 4183

 

อาการปวดขาทุกจังหวะที่ก้าวเดิน ปวดบริเวณขาหนีบ ปวดสะโพกหรือหน้าขา บางรายปวดไปที่เข่า อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นรูมาติสม์ ข้อเข่าอักเสบ กินยาคลายกล้ามเนื้ออยู่เป็นเดือนก็ไม่หาย

บางรายอาการลุกลามจนหัวสะโพกยุบตัว ต้องเดินกะเผลกเพราะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน กระทั่งเข้ารับการตรวจรักษาจึงพบว่าเป็นโรค “กระดูกสะโพกตาย”

“โรคกระดูกสะโพกตาย” หลายคนเข้าใจว่าเกิดขึ้นเฉพาะกับคนสูงอายุ เนื่องจากการเสื่อมของอวัยวะตามวัยเช่นเดียวกับข้อเข่าเสื่อม แต่ในความเป็นจริงยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก

ที่สำคัญคือคุณหมอยืนยันว่า โรคกระดูกสะโพกเสื่อมไม่ใช่โรคของคนสูงอายุ แต่เกิดกับคนหนุ่มสาวที่อายุไม่มาก!

‘แอลกอฮอล์’ตัวการสำคัญ
ทำ’กระดูกสะโพกตาย’

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคข้อสะโพกเสื่อมเพิ่มมากขึ้น โดยสถิติของโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบเท่ากับ 3.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในคนอายุเฉลี่ย 25 ปีพบว่ามีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 4.9% ขณะที่อายุเฉลี่ย 45 ปีพบว่ามีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 19.2% และเมื่ออายุถึง 60 ปี มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมสูงถึง 37.4%

สำหรับประเทศไทยนั้น มีอุบัติการณ์ของการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมปีละกว่า 25,000 ราย

นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกว่า สาเหตุของโรคข้อสะโพกเสื่อมที่คนไทยเป็นกันมากคือ โรคข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด โดยโรคข้อสะโพกเสื่อมนั้นส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อน โรครูมาตอยด์

ในวัยกลางคน จากสถิติพบว่ามีปัญหากระดูกสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน สาเหตุเนื่องมาจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือบางคนกินยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ปริมาณมาก ส่งผลให้เลือดหนืดไหลเวียนไม่ดีไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกซึ่งยื่นขึ้นไปด้านบนได้ เป็นสาเหตุทำให้หัวกระดูกสะโพกตาย รวมถึงการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมาก่อน หรือกระดูกสะโพกหัก เป็นต้น

“คนไข้ที่ต้องผ่าตัดใส่ข้อเทียมในไทยส่วนใหญ่จะเป็นข้อเข่า เพราะคนสูงอายุเยอะ สำหรับในรายที่ข้อสะโพกเสียจนต้องเข้ารับการผ่าตัดจะเป็นกระดูกสะโพกตายเราพบบ่อยในคนที่ดื่มเหล้าเยอะ ใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานานๆ ฉะนั้นการซื้อยาจากร้านขายยาเองเป็นสิ่งที่อันตรายต้องระวัง ซึ่งบางโรคก็ต้องใช้สเตียรอยด์เหมือนกัน แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์”

คุณหมอวัลลภบอกและเพิ่มเติมว่า คนไทยคนเอเชียมีข้อดีคือข้อเสื่อมน้อยมาก ไม่เหมือนฝรั่ง แต่คนไทยมีปัญหากินเหล้า ใช้ยาสเตียรอยด์ หรือพวกที่มีความผิดปกติของสะโพกตั้งแต่กำเนิด เช่น ข้อสะโพกเคลื่อน เบ้าสะโพกตื้น หรือคนที่เคยบาดเจ็บ กระดูกหักที่สะโพก ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้นได้ ฉะนั้นกลุ่มอายุจะค่อนข้างอายุน้อย 40-50 ปี ไม่ใช่กลุ่มอายุของความเสื่อม แต่เป็นเพราะ “แอลกอฮอล์” อยู่ในวัยที่กำลังใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ขณะที่ข้อเสื่อมจะอยู่ในวัย 60-70 ปี

“กินเหล้าเมายา เป็นสาเหตุสำคัญ ไม่จำเป็นต้องกินมาก แต่กินสม่ำเสมอก็เกิดขึ้นได้แล้ว วันละ 1 กระป๋อง ถ้ากิน 1-2 ปีก็มีผลได้ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่สะโพก”

ส่วนสัญญาณเตือน ไม่มีครับ อาจจะเริ่มเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เหมือนคุณปริศนาคือเจ็บแล้วจึงไปตรวจ ส่วนมากนึกว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นกระดูกทับเส้นที่หลัง แต่จริงๆ เป็นที่สะโพก

คำแนะนำคือถ้าเกิดอาการปวด ต้องไปตรวจ ซึ่งถ้าไม่นึกถึงโรคนี้เลยก็จะข้ามไป

แค่หกล้มอย่าวางใจ
อาจถึงขั้นนั่งรถเข็น

ถ้าพูดถึงอายุ 52 ปี ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับคนไข้ข้อเข่าเสื่อมทั่วไปที่มักเกิดขึ้นเนื่องจากความเสื่อมตามอายุ

กรณีของ ปริศนา ภู่นรินทร์ มีกิจการส่วนตัว ไม่ต้องแบกต้องหาม จะมีก็แค่เดินๆ นั่งๆ ทั้งวันเป็นส่วนใหญ่ แต่สาเหตุที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม เป็นเพราะเคยหกล้มในห้องน้ำโดยไม่ทราบว่าทำให้ข้อเคลื่อน เป็นที่มาของอาการปวด

“การเดินแต่ละครั้งจะเจ็บมากจนไม่อยากเดิน เวลาใส่เสื้อผ้าก็เจ็บ ฟังเสียงกระดูกจะดังกึกกักๆ เหมือนกระดูกจะแตกออกเป็นเสี่ยง เจ็บอยู่ 3 เดือนค่ะ จน 6 เดือนก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้องนั่งรถวีลแชร์เพราะปวดมาก เวลาเดินเหมือนจะร้าวไปทั้งขา เดินได้ 2-3 ก้าวต้องหยุด และจะเดินเอียงไปข้างหนึ่งเพราะมันเจ็บมาก ทำให้ขาอีกข้างต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ” ปริศนาบอกถึงความรู้สึกที่ต้องทนทรมานอยู่นาน

แม้จะเป็นคนที่กลัวเจ็บกลัวการผ่าตัด แต่เมื่อทนไม่ไหว จึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดด้วยเทคนิควิธีใหม่ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกโดยไม่ตัดกล้ามเนื้อ” ซึ่งข้อดีคือฟื้นตัวเร็วมาก และผู้รับการผ่าตัด (แทบ) ไม่เจ็บปวดเลย

“ผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง” ปริศนาบอก และว่า การเจ็บปวดไม่มี หลังผ่าตัดแล้วเหมือนได้ชีวิตคืนมาอีกครั้ง การฟื้นตัวเร็ว พอกลับไปอยู่ที่บ้านเดินได้เหมือนปกติ ขี่จักรยานออกกำลังกายได้”

ขณะที่อาจารย์หมอวัลลภเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก เมื่อก่อนการผ่าตัดจะเข้าด้านหลัง ซึ่งผู้ป่วยสูงอายุกล้ามเนื้อจะอ่อนแอกว่าคนปกติ โอกาสข้อสะโพกหลุดมีสูง เราจึงนำเทคนิคใหม่นี้เข้ามาใช้กับผู้สูงอายุบ้างแล้วคือ การผ่าตัดด้านหน้าแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ เพื่อใส่ข้อสะโพกเทียม ซึ่งได้ผลดี ผู้ป่วยเจ็บน้อยและฟื้นตัวเร็ว

เทรนด์ใหม่’ไม่ตัดกล้ามเนื้อ’
ฟื้นตัวไว ไม่เจ็บปวด

ทางด้าน นพ.พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งที่เดินทางไปประเทศแคนาดาศึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมว่า ตอนแรกรู้สึกแปลกใจที่คนไข้หลังการผ่าตัดสามารถเดินได้ทันที และบางรายผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียว คือผ่าตัดตอนเช้า เที่ยงหัดเดิน ตอนเย็นกลับได้แล้ว ซึ่งวิธีการผ่าตัดนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งจะนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

“การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ” เป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ โดยจะผ่าตัดเข้าจากด้านหน้าข้อสะโพกบริเวณขาหนีบ จะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ ขณะผ่าตัด และรูปแบบการผ่าตัดนั้นผู้ป่วยจะนอนหงายขณะผ่าตัด ทำให้กายวิภาคไม่ผิดท่ามากนัก

ข้อดีคือการใส่ข้อสะโพกเทียมทำได้ตรงจุดและสามารถประเมินความยาวของขาได้แม่นยำขึ้น มากกว่าการผ่าตัดแบบเดิมที่ผ่าเข้าทางด้านหลังบริเวณก้น หรือเข้าทางด้านข้าง โดยให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้างและมีการบิดขา สามารถใช้เอกซเรย์ C-ARM ขณะผ่าตัด เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการใส่ข้อสะโพกเทียมและประเมินความสั้นยาวของสะโพก”

เนื่องจากเทคนิคใหม่นี้จะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพก ทำให้ความเสี่ยงที่ข้อสะโพกเทียมหลุดน้อยกว่าวิธีเดิม สามารถผ่าพร้อมกัน 2 ข้างได้ในคราวเดียว อัตราการสูญเสียเลือดน้อยกว่า 550 cc/ 2 ข้าง เนื้อเยื่อเสียหายน้อย อัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดลดลง โดยขนาดของบาดแผลผ่าตัดนั้นจะมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเดิม (แบบเดิมแผลยาวประมาณ 6 นิ้ว) แผลผ่าตัดจะอยู่ด้านหน้า และสามารถซ่อนแผลใต้รอยขอบบิกินี ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการอีกด้วย

“สิ่งที่คนไข้รู้สึกได้ทันทีคือไม่เจ็บปวด ฟื้นตัวไวมาก แต่เรายังไม่ได้ทำการผ่าตัดแบบวันเดียว เพราะเราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงให้เวลาในการพักฟื้นสักวัน”

ถามถึงเงื่อนไขอื่นของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยเทคนิคใหม่นี้ คุณหมอบอกว่า ใช้ได้กับผู้ป่วยเกือบทุกราย ยกเว้นคนไข้ที่อ้วนมาก พุงยื่น เพราะพุงจะไปกดตรงแผลผ่าตัดบริเวณขาหนีบ แต่ก็ผ่าตัดได้ครับ” หมอพนธกร ยืนยันพร้อมรอยยิ้ม

นี่จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกสะโพกตาย/หัก ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องทนทรมานกับความเจ็บปวด

 

 

 

“ไทย” แชมป์อันดับ 3 นักดริ๊งค์เอเชีย

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2542 พบว่าปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทยโดยเฉลี่ยเป็น 52 ลิตร/คน/ปี หรือคิดเป็น 7.1 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี

ความชุกของนักดื่มในประชากรผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 31.5 และความชุกของนักดื่มในประชากรวัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) คิดเป็นร้อยละ 14 โดยในแต่ละปีประเทศไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่นักดื่มเหล่านี้คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน และนักดื่มในกลุ่มนี้สัดส่วนของนักดื่มประจำเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 ภายในระยะเวลา 3 ปี (2551-2553)

ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาโดยเฉลี่ยเพียง 4.5 นาที ในการเดินทางไปร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึงร้อยละ 98.7 ยังสามารถซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ด้วยตนเอง

ที่มา