นัดพบแพทย์

จริงหรือ อาการ... ปวดหลัง เกิดขึ้นได้กับทุกวัย ?

11 Dec 2016 เปิดอ่าน 1334

ปวดหลัง... อาการปวดหลังเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ส่วนมากพบใน 2 วัย คือ
 
กลุ่มวัยทำงาน เช่น กรรมกร เป็นต้น
กลุ่มผู้สูงอายุ พบได้ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เกิดจากไขข้อกระดูกสันหลังเสื่อม
กายวิภาคของหลัง
 
กระดูกสันหลังเป็นกระดูกแกนกลางของร่างกาย และเป็นแกนหลักในการรับน้ำหนัก ซึ่งประกอบด้วยกระดูกสันหลัง 33 ชิ้น ได้แก่ ส่วนคอ 7 ชิ้น ส่วนอก 12 ชิ้น ซึ่งจะเป็นที่ยึดเกาะของกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลังส่วนเอว 5 ชิ้น กระดูกกระเบนเหน็บ 5 ชิ้น ซึ่งจะเชื่อมรวมเป็นชิ้นเดียว ส่วนล่างของกระดูกสันหลังเชื่อมกับกระดูกเชิงกรานซึ่งเป็นข้อต่อให้กับกระดูกขาทั้งสองข้างกรุดูกสันหลังแต่ละปล้อง เชื่อมต่อกันด้วยหมอนรองกระดูกและข้อต่อของตัวกระดูกสันหลัง ทำให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ในแกนกลางของโพรงกระดูกสันหลัง เป็นที่อยู่ของไขประสาทสันหลัง ที่ต่อเนื่องมาจากสมองและมีแขนงเป็นรากประสาทสันหลัง ส่งไปเลี้ยง แขน ลำตัว และขา นอกจากนี้ยังมีเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อหลายๆ มัด และเนื้อเยี่ออ่อน ยึดต่อเนื่องเป็นแผ่นหลัง
 
 สาเหตุของการปวดหลังอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
 
กล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งมักเกิดจากท่าทางของร่างกายที่ไม่ถูกต้อง
กล้ามเนื้อเคล็ดหรือฉีกขาด มักเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรืออุบัติเหตุ
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักพบในผู้ที่ก้มตัวยกของหนักมากเกินไป หรือบิดเอียวตัวขณะยกของหนัก เมื่อมีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูก มักจะมีการกดทับรากประสาท ทำให้มีอาการปวดหลัง และปวดร้าวลงไปที่ขาตามแนวรากประสาทนั้นๆ
กระดูกหลังเสื่อม มีการหนาตัวของกระดูกสันหลังและเส้นเอ็น ทำให้โพรงกระดูกสันหลังแคบ กดรัดไขสันหลัง มักพบในผู้สูงอายุ มักจะมีอาการชาขา เวลาเดิน
การติดเชื้อ เช่น วัณโรคของกระดูกสันหลัง
เนื้องอก เช่น การกระจายของมะเร็งจากอวัยวะอื่นมาที่กระดูกสันหลัง
กระดูกสันหลังคด ทั้งที่เป็นเองแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง เช่น หิ้วของหนักมากข้างเดียวเป็นประจำ
ภาวะการดูกพรุน มักจะทำให้มีอาการปวดเมื่อย เมื่อมีการใช้งานหลัง เช่น ยืน นั่ง เดิน แต่เมื่อนอนจะไม่ค่อยมีอาการปวด และอาการจะมีการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง ทำให้มีลักษณะของหลังค่อม
ความเครียด อาจส่งผลถึงกล้ามเนื้อหลัง ทำให้มีอาการเกร็งและปวดหลังได้
สาเหตุจากอวัยวะภายใน เช่น ไตอักเสบ มดลูกอักเสบ นิ่วในไต หรือท่อไต
การให้การวินิจฉัย
 
จำเป็นจะต้องตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อให้ได้ประวัติอาการที่ชัดเจน และรวมไปถึงการตรวจร่างกายโดยละเอียด
เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่สมควรก็อาจจะรับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อได้ข้อมูลช่วยในการวินิจฉัย เช่น การ X-RAY
การรักษา
 
ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถ้ามีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือกระดูกบริเวณหลังหมอนรองกระดูกสันหลัง มักจะเริ่มต้นด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม
 
วิธีอนุรักษ์นิยม
 
คือ การรักษาโดยไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น กระดูกสันหลังหักกดทับไขสันหลัง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด่วน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะอัมพาต
 
การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม ได้แก่
 
การพัก... เป็นการนอนพัก โดยที่สามารถลุกนั่ง ทานอาหาร และเข้าห้องน้ำได้ ในกรณีที่ปวดหลังจากสาเหตุทั่วไป การพักจะทำให้อาการดีขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน
การบริหารยา... ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ Steroid ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งจำเป็นจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์โดยใกล้ชิด
 
การทำกายภาพบำบัด... หรือการให้การฟื้นฟูสภาพเพื่อรักษาอาการปวดหลังนั้น ได้แก่ การใช้เครื่องมือเพื่อให้ความร้อน ความเย็น หรือเครื่องมือในการดึงหลัง หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เพื่อบรรเทาอาการปวด อักเสบที่หลัง
สำคัญที่สุดของการฟื้นฟูสภาพหลัง... คือ การให้การบริหารกล้ามเนื้อที่เหมาะสม ในแต่ละรายการ ให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน การทำกิจวัตรประจำวัน หรือลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงไว้เสมอ ก็เป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการปวดหลังได้ดี เพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง เป็นกล้ามเนื้อที่คอยตรึงแนวกระดูกสันหลังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวมากเกินไป การควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น น้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป หรือไม่ให้รูปร่างอ้วนเกินไป เพราะการที่มีรูปร่างอ้วน จะทำให้แนวกระดูกสันหลังเปลี่ยนไป การรักษาด้วยการผ่าตัดจะพิจารณาทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน
 
พญ.อุทัยวรรณ เล็กยิ่งยง
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
 
* ขอบคุณบทความจาก : http://www.sukumvithospital.com/content.php?id=48