นัดพบแพทย์

จิตเวชเด็ก กับการสังเกตุโรคสมาธิสั้น

01 Dec 2016 เปิดอ่าน 2044

 ‘สมาธิสั้น’ โรคที่หากถามพ่อแม่ในยุคประมาณ 10-20 ปีก่อนหน้านี้ คงมีน้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่ด้วยข้อมูลและความก้าวหน้าทางวิชาการในปัจจุบันที่ได้พัฒนาจนสามารถแยกความแตกต่างระหว่างภาวะการเป็นเด็กซนปกติตามวัย กับภาวะที่เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น ผู้ปกครองหลายคนจึงเริ่มให้ความสนใจถึงคำนี้มากขึ้น

    แพทย์หญิงภัทรียา ธารสิริโรจน์ กุมารแพทย์และจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลสิริโรจน์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นว่า ‘เป็นหนึ่งในโรคที่เกี่ยวกับจิตเวชเด็ก ซึ่งจะแตกต่างจากจิตเวชผู้ใหญ่’

    “เมื่อก่อนถ้าใครพูดถึงจิตเวชก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนบ้า ซึ่งในด้านของจิตเวชผู้ใหญ่อาจจะมีบ้าง เพราะมีเรื่องโรคเข้ามาเกี่ยวเช่น โรคประสาท โรคเครียด หรือโรคซึมเศร้า แต่ในด้านจิตเวชเด็กแล้ว ลักษณะที่เกิดจากโรคจะมีแค่ 2 เรื่อง คือ โรคสมาธิสั้น และออทิสติก ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องของพฤติกรรม และปัญหาพัฒนาการ สิ่งเหล่านี้มันสามารถปรับความเข้าใจ และแก้ไขได้”

    โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบประสาทในสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe of Cerebral Hemisphere) ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยควบคุมความคิด การเกิดสมาธิ การจัดระเบียบ และการทำกิจกรรมแบบมีจุดมุ่งหมาย ทำงานน้อยกว่าปกติ หรือความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมองที่เรียกว่า Dopamine และ Norepinephrine สารเคมีที่ช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เมื่อมีปริมาณการหลั่งสารที่ไม่สมดุลกัน จึงส่งผลให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติจนไม่สามารถหยุดการกระทำได้ ซึ่งด้วยความใกล้เคียงระหว่างการมีพฤติกรรมซนตามวัย กับภาวะอาการของสมาธิ การที่จะระบุว่าเด็กคนไหนเป็นสมาธิสั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นแพทย์หญิงภัทรียาจึงแนะนำเบื้องต้นว่าผู้ปกครองควรคุยกับคุณครูให้ช่วยสังเกตบุตรหลานตามพฤติกรรมต่อไปนี้...

    “โรคสมาธิสั้นจะแสดงออกมาอย่างชัดเจนเวลาที่ต้องทำกิจกรรมเรียนรู้อะไรบางอย่าง ถ้าเป็นที่โรงเรียนเด็กกลุ่มนี้จะดูเหมือนไม่ตั้งใจเรียน วอกแวก ไม่ฟัง หรือไม่สามารถทำงานตามที่ครูสั่งได้สำเร็จ ส่วนที่บ้านก็สังเกตว่าเขาไม่ชอบอยู่นิ่งหรือเปล่า ไม่ชอบเล่น หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิหรือไม่”

    เล่นอะไรได้ไม่นาน เปลี่ยนของเล่นไปเรื่อย ๆ วอกแวก ชอบยุกยิก แกะโน่นเกานี่ อยู่ไม่สุข ปีนป่าย นั่งไม่ติดที่ ชอบคุย ส่งเสียงดังรบกวนคนรอบข้าง ไม่อดทนต่อการรอคอย ทำอะไรได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่กำลังทำได้นานเพียงพอ ทำงานไม่เสร็จตามที่สั่ง ทำงานตกหล่น ไม่ครบ ไม่ละเอียด มักใจลอยหรือเหม่อลอยง่าย ฯลฯ

    เหล่านี้คือ พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเด็กอย่างมาก เช่น ทำงานไม่ทันเพื่อน ทำการบ้านไม่เสร็จ กระทบต่อผลการเรียน ดูฉลาดคล่องแคล่วแต่ผลการเรียนไม่ดี นอกจากนี้ยังอาจทำให้เด็กขาดเพื่อน เพื่อนไม่อยากเล่นด้วย เพราะเล่นแรงเกินไป หรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่คนรอบข้าง ซึ่งหากพฤติกรรมโดยส่วนใหญ่ของเด็กมีลักษณะตามที่กล่าวมา ผู้ปกครองก็อาจเริ่มสงสัยได้ว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ โดยควรพาไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจยืนยันอีกครั้ง

    “จริง ๆ แล้ว เด็กโดยมากจะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมมากกว่าการเป็นโรค แล้วพฤติกรรมส่วนใหญ่ 80-90% มาจากคนเลี้ยงดู ดังนั้นการวินิจฉัยว่าเด็กคนใด เป็นสมาธิสั้นหรือไม่ ต้องเป็นแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้นจึงจะบอกและแยกแยะได้”
สำหรับวิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นนั้น แพทย์หญิงภัทรียาบอกว่า มีทั้งการให้ยาเพิ่มสมาธิ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาจากการเลี้ยงดู โดยนั้นส่วนหลังนี้จำต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจของผู้ปกครองให้ชัดเจนเสียก่อน บางคนที่ยอมรับได้ก็จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น ส่วนบางคนที่ไม่ยอมรับ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ย่อมส่งผลเสียกลับมาที่ตัวเด็กอีกเช่นเดิม

    “ตอนนี้การเลี้ยงดูเด็กมีเรื่องที่น่ากังวลอยู่อย่างหนึ่ง คือการแข่งขันภายในสังคมที่เน้นเด็กเรียนเก่งมากเกินไป พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจก็จะมากดดันลูก เด็กบางคนถูกยัดเยียดความรู้ที่เกินพัฒนาการ หรือยัดเยียดในปริมาณที่เยอะเกินไป ซึ่งมันเป็นการฝืนธรรมชาติของเขา ต่อไปเด็กอาจจะเป็นคนไอคิวดีตามที่พ่อแม่คาดหวัง แต่อีคิวเขาอาจจะแย่จนไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตก็ได้ ดังนั้นถ้าเด็กคนหนึ่งกลายเป็นโรคสมาธิสั้นจริง ๆ แล้วล่ะก็ มันต้องทำควบคู่กันไปค่ะ ทั้งการเลี้ยงดูแบบใกล้ชิด เหมาะสมกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของเขา และการรับการรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์แบบเฉพาะทาง เด็กจึงจะกลับมามีพฤติกรรมเป็นปกติเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ”

    ปัจจัยหลายอย่างในสังคมยุคแห่งการพัฒนา ที่มีทั้งการแข่งขันเรื่องผลการเรียน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาล่อตาล่อใจ การสื่อสารที่ก้าวไกล รวมถึงความไม่มีเวลาของพ่อแม่ที่จะอยู่ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เด็ก ๆ ในปัจจุบันจึงต้องประสบพบเจอกับภาวะทางอารมณ์ และเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมากมาย ก่อให้เกิดปัญหาความก้าวร้าว โรคซึมเศร้า หรือโรคสมาธิสั้นมาตาม ซึ่งแม้มือของเรายังไม่ใหญ่พอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่มือน้อย ๆ นี้ก็สามารถปกป้องและดูแลเด็กในปกครองได้ ด้วยการหมั่นเอาใจใส่ มอบความรัก และความปราถนาดีให้เขาอย่างใกล้ชิด ส่วนที่เหลือ หากวินิจฉัยพบการเจ็บป่วยหรือการเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ผู้ปกครองก็ควรรีบพาบุตรหลานเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาโดยทันที

    แค่นี้เด็ก ๆ ก็จะมีสภาพร่างกายและจิตใจที่เข็มแข็งเพียงพอจะยืนหยัดในสังคมที่วุ่นวายนี้ได้แล้วล่ะค่ะ

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://phuketbulletin.co.th/Lifestyle/view.php?id=1247