นัดพบแพทย์

ชวนพ่อแม่ รู้จักไวรัสกล่องเสียง

10 Aug 2016 เปิดอ่าน 2319

กล่องเสียงของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นมีขนาดต่างกัน และนี่แหละค่ะที่เป็นเหตุผลให้เวลาเด็กๆ ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสบริเวณกล่องเสียงที่แสนจะบอบบางอ่อนไหวของเด็กๆ จึงเจ็บป่วยได้มากกว่าผู้ใหญ่

 เหตุเกิดเพราะหลานสาววัย 3 ขวบกว่าๆ เกิดอาการเป็นไข้หวัด ไข้ขึ้นสูงจนถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลือกันเลยค่ะ แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งพ่อแม่และคนรอบข้างตกใจ และรู้สึกว่าไม่ใช่อาการไข้หวัดธรรมดาซะแล้ว ก็เพราะว่าเวลาเจ้าหลานสาวตัวน้อยไอทีไร เสียงไอของเขาจะดังน่ากลัวมาก เป็นเสียงใหญ่ๆ คล้ายเสียงเห่าของสุนัข พอคุยกับคุณหมอถึงได้รู้ว่า เป็นอาการของการติดเชื้อไวรัสที่กล่องเสียง ซึ่งคุณหมอบอกว่าโรคนี้จะเป็นในเด็กเล็กๆ เท่านั้น

 และเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจยังไม่รู้จักโรคนี้กัน นงพุธเลยถือโอกาสนำเสนอบทความของรศ.พญ.จีระสุข จงกลวัฒนา ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา (หู คอ จมูก) เพื่ออย่างน้อยๆ คุณพ่อคุณแม่จะได้สังเกตและประเมินอาการเบื้องต้นของเจ้าตัวเล็กได้ทันท่วงทีค่ะ

 ไวรัสกล่องเสียง โรคที่มาจากการติดเชื้อ

 คุณหมอบอกว่าการติดเชื้อไวรัสที่กล่องเสียงในเด็กจริงๆ แล้วมีได้หลายลักษณะด้วยกัน ซึ่งจะขอแยกเป็นประเภทให้เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

  • การติดเชื้อแบบเป็นหวัดธรรมดา

     

    ซึ่งถ้ามีการอักเสบของสายเสียงก็จะมีอาการไอ และเสียงแหบได้ค่ะ แต่ก็ไม่มีปัญหารุนแรงอะไร อาการที่ว่านี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ส่วนปัญหาที่ทำให้เกิดเสียงแหบจากการติดเชื้อแบบนี้ อาจเกิดการอักเสบของสายเสียงจากเชื้อหวัดโดยตรง หรืออักเสบจากการไอก็ได้

     

    การรักษา ก็เหมือนการรักษาหวัดทั่วไป คือ การพักผ่อน พักเสียง และให้ยาตามอาการ สำหรับยาแก้หวัดซึ่งเป็นยากลุ่ม antihistamine นั้น ควรเลือกชนิดที่ไม่ทำให้คอแห้ง โรคนี้จะหายได้โดยไม่มีอันตรายร้ายแรง ที่สำคัญคือต้องดูแลให้ผู้ป่วยได้พักเสียงด้วย เพราะถ้าใช้เสียงมากๆ ก็อาจจะทำให้เสียงแหบต่อไปอีกนานทั้งๆ ที่อาการอื่นๆ ของหวัดทุเลาลงแล้ว

     

  • การติดเชื้อ Acute laryngotracheobronchitis

     

    เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด parafluenzae หรือ influenzae โดยเชื้อจะเริ่มทำให้เกิดการอักเสบ ที่เยื่อบุจมูกและคอก่อน ซึ่งอาการเริ่มต้นจะคล้ายเป็นหวัด ต่อมาการอักเสบจะลามไปที่ สายเสียง เริ่มไอและเสียงแหบได้ซึ่งอาการที่หลานสาววัย 3 ขวบป่วยนั้น คุณหมอบอกว่าเป็นเพราะติดเชื้อนี้ล่ะ คือมีอาการไอเสียงก้องๆ เหมือนสุนัขเห่า ฝรั่งเรียกว่า "barking cough" เป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของโรคนี้ค่ะสาเหตุของอาการไอมาจากในเด็กเล็กๆ ส่วนของกล่องเสียงบริเวณใต้สายเสียงซึ่งต่อกับหลอดลม หรือที่ศัพท์ทางวิชาการเรียก subglottis นั้น จะค่อนข้างแคบ ดังนั้นเมื่อการอักเสบลามมาถึงส่วนนี้ ก็จะทำให้ไอ เสียงก้องๆ และช่องทางหายใจแคบลงอีกก็จะมีอาการเหนื่อย แน่นอึดอัด ในที่สุดก็มีอันตรายถึงชีวิตได้

     

    การรักษา ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้ยา ให้ออกซิเจนและความชุ่มชื้นแก่ทางเดินหายใจ และรอให้การอักเสบบวมนั้นยุบลง ในกรณีที่เป็นมากอาจต้องใส่ท่อหายใจ หรือเจาะคอช่วยหายใจ แต่กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ค่ะ โรคนี้พบในเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ไม่พบในผู้ใหญ่

     

  • การติดเชื้อ Laryngeal papilloma

     

    เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคที่มีลักษณะเป็นเนื้องอก คล้ายหูด โรคจะค่อยเป็นค่อยไปช้าๆ พบได้ในเด็กโตและเด็กเล็ก ซึ่งอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป โดยเนื้องอกนี้จะโตอยู่บนสายเสียง หรือบริเวณใกล้เคียง ตอนแรกๆ จะเสียงแหบ และจะค่อยๆ แหบมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเริ่มอุดเบียดทางเดินหายใจให้แคบลง ก็จะเริ่มอาการหายใจเสียงดัง จนหอบเหนื่อยในที่สุด โรคนี้ถึงจะเป็นเชื้อไวรัส แต่อาการจะเป็นอย่างช้าๆ อาจกินเวลาหลายเดือนตั้งแต่เริ่มเสียงแหบน้อยๆ จนกระทั่งหายใจไม่สะดวก

     

    การรักษา ในปัจจุบันจะเป็นการตัดเนื้องอกนี้ด้วยเลเซอร์ ซึ่งบางรายหายขาดได้ แต่บางรายก็ต้องตัดอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะ อยู่เป็นเวลานานจนกว่าโรคจะดีขึ้นหรือหายไป เมื่อโตเป็นวัยรุ่นหรือเป็นผู้ใหญ่แล้วซึ่งคุณหมอฝากไว้ว่าโรคนี้ยิ่งได้รับการวินิจฉัยเร็วก็จะสามารถใช้เลเซอร์ตัดได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดได้มากกว่าเริ่มรักษาเมื่อเป็นมาก ในผู้ใหญ่ก็พบได้บ้าง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งต้องได้รับการเจาะคอ แต่ปัจจุบันเนื่องจากวินิจฉัยได้เร็ว และมีการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ ทำให้ลดการเจาะคอไปได้มาก


ป้องกันยังไงดีคะ…

 

ในกรณีการติดเชื้อประเภทที่สอง (Acute laryngotracheobronchitis) อาจเกิดได้กับทุกคน เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่ถูกสุขอนามัย นอนหลับให้เพียงพอ แต่สำหรับการติดเชื้อประเภทที่สาม (Laryngeal papilloma) นั้นมีรายงานว่า อาจเกี่ยวข้องกับหูดที่บริเวณช่องคลอดของคุณแม่ ซึ่งเรื่องนี้ขณะตั้งครรภ์ สูติแพทย์จะดูแล และให้คำแนะนำได้ค่ะ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.elib-online.com/doctors47/ped_virus002.html