นัดพบแพทย์

ตรวจสมรรถภาพปอดนั้น สำคัญไฉน

11 Sep 2016 เปิดอ่าน 968

 ปอดของคนเรามีหน้าที่สำคัญ คือ รับออกซิเจนเข้า และคายคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากร่างกาย หากปอดไม่แข็งแรงจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น การตรวจสมรรถภาพปอด จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยประเมินความสามารถของปอดในการทำหน้าที่นี้

   การตรวจสมรรถภาพปอด มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัย ประเมินผล และติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคที่ทำให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ และประเมินความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และยังสามารถบอกถึงความเสื่อมของการทำงานของปอดด้วย ซึ่งผู้ที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด ได้แก่ ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงแม้ไม่มีอาการ เช่น ผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้สัมผัสฝุ่น ควันที่เป็นอันตรายต่อปอด เช่น ทำงานในเหมืองแร่ มีฝุ่นฝ้าย มีฝุ่นหินทราย ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค
       
       สำหรับวิธีการทดสอบสมรรถภาพปอด ผู้เข้ารับการตรวจให้นั่งตัวและหน้าตรง เท้าทั้ง 2 ข้างแตะกับพื้น อมกระบอกเครื่องเป่า และปิดปากให้แน่น พร้อมที่หนีบจมูก สูดหายใจเข้าเต็มที่ หายใจออกให้เร็วและแรงเต็มที่จนหมด และสูดหายใจเข้าอีกครั้ง ทำซ้ำให้ได้ผลที่เข้าเกณฑ์อย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ไม่เกิน 8 ครั้ง โดยเกณฑ์ที่ถือว่าทำได้ถูกต้องเจ้าหน้าที่จะดูจากกราฟปริมาตร-อัตราการไหลของอากาศ และ กราฟปริมาตร-เวลา โดยต้องเป่าออกได้แรงและเร็วและนานพออย่างน้อย 6 วินาที รวมทั้งไม่มีการสะดุดระหว่างการเป่า การพบความผิดปกติของปอดในระยะแรก จะช่วยให้ได้รับการรักษาตั้งแต่โรคยังเป็นไม่มาก ช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้
       
       อย่างไรก็ดี การตรวจสมรรถภาพปอด เป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือในการตรวจ เพราะผู้ป่วยต้องออกแรงในการเป่า ทำให้บางคนที่เหนื่อยอยู่แล้วคิดว่าทำไม่ได้ ความจริงแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถทำได้ ซึ่งแพทย์จะดูตามกำลังของแต่ละคน ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏว่า มีคนไข้ขาดใจจากการเป่าเลย ดังนั้น ควรทำให้เต็มที่ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย หรือกลุ่มคนทำงานที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ควรรับการตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งก่อนมาตรวจ ให้งดยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสูดตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ เช่น ยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสูดออกฤทธิ์สั้น (ยาฉุกเฉิน) 4-6 ชั่วโมง และยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสูดออกฤทธิ์ยาวอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ง่ายๆ คือ งดยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสูดหลัง 2 ทุ่ม และเช้าก่อนวันมาตรวจ ยกเว้นถ้าเหนื่อยมากสามารถใช้ยาได้ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าเริ่มสูดยาเมื่อไหร่ ส่วนยาอื่นๆ ใช้ได้ตามปกติ เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาควบคุมเบาหวาน และไม่ต้องงดอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป ก่อนตรวจสมรรถภาพปอด 2 ชั่วโมง และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดทรวงอกและท้อง รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ทั้งนี้ เพื่อให้ผลการตรวจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผศ.พญ.ดร.เบญจมาศ ช่วยชู

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000109001