นัดพบแพทย์

ตัดมดลูก ตัดกังวล

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 4094

มดลูกและรังไข่เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง และเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่ยังต้องการมีลูก แต่จะทำอย่างไรถ้ามีเหตุให้ต้องผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ออกไป HealthToday ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสตรีวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้ในเรื่องนี้

ตามธรรมชาติรังไข่ของผู้หญิงจะเริ่มสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เช่นเดียวกับเด็กผู้ชายที่อัณฑะจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศชายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเช่นกัน โดยเด็กผู้ชายจะเริ่มมีเสียงแหบห้าว มีกล้ามเนื้อ มีหนวดเครา ขนขึ้นตามแขน ขา หน้าแข้ง หน้าอก รักแร้ และบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น ส่วนเด็กผู้หญิงจะเริ่มมีน้ำมีนวล หน้าอกขยาย มีทรวดทรงองค์เอว และมีประจำเดือน ในช่วง 1 – 2 ปีแรกที่ร่างกายเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ แต่หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะเริ่มตกไข่สม่ำเสมอขึ้น ประจำเดือนจึงมาตรงตามรอบทุก 26 – 28 วัน เปรียบเหมือนรถไฟที่เพิ่งออกจากชานชลาย่อมต้องมีกระตุกบ้าง แต่พอเริ่มวิ่งเต็มที่จะวิ่งสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ จนอายุย่างเข้า 40 ปี ประจำเดือนจะเริ่มรวนอีกครั้ง เหมือนรถไฟเตรียมชะลอตัวเข้าสู่ชานชลา จากที่เคยมีประจำเดือนมาทุก 26 – 28 วัน กลายเป็นมาช้าบ้างเร็วบ้าง เป็นเช่นนี้อยู่หลายปีจนกระทั่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนที่อายุประมาณ 48 – 50 ปี

ขณะที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ รังไข่ยังมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ถ้ารังไข่ถูกตัดออกไปทั้งที่ยังไม่เข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน จะทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างฮวบฮาบ ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายในหลายๆ ด้าน ยิ่งตัดออกตอนอายุน้อยเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีอาการมากขึ้นเท่านั้น เช่น ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า ความต้องการทางเพศหายไป ซึ่งเป็นอาการที่เกิดเร็วกว่าวัย เพราะโดยทั่วไปผู้หญิงจะเริ่มมีอาการเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นวัยที่รังไข่หยุดทำงานไปแล้วตามธรรมชาติ ในกรณีนี้แพทย์อาจพิจารณาใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อให้ร่างกายได้ค่อยๆ ปรับตัว จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับลดฮอร์โมนลง โดยทั่วไปที่แพทย์ทั่วโลกส่วนใหญ่แนะนำคือให้ใช้ฮอร์โมนทดแทนไปจนกระทั่งถึงวัยหมดประจำเดือน เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งอายุเฉลี่ยการเข้าสู่วัยทองของหญิงไทยจะอยู่ที่ประมาณ 48 – 50 ปี ชาวตะวันตกอยู่ที่ 51 – 52 ปี  แต่ถ้าประจำเดือนหมดก่อน 45 ปี นับว่าหมดเร็ว เรียกว่า Early Menopause กรณีนี้อาจมีอาการวัยทองเร็วกว่าคนทั่วไป อาจเกิดกระดูกบางเร็วขึ้น แต่ถ้าประจำเดือนหมดก่อน 40 ปี ถือว่าหมดก่อนกำหนด ควรต้องหาสาเหตุ เพราะบางรายอาจมีความผิดปกติที่โครโมโซม ถ้าพบว่ามีโครโมโซม Y ของเพศชายอยู่ด้วย จำเป็นต้องตัดรังไข่ออกเนื่องจากโครโมโซม Y ที่ซ่อนอยู่ในรังไข่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งรังไข่ได้ ถ้าไม่ได้เกิดจากโครโมโซมผิดปกติ แต่มีโรคบางอย่างที่ทำให้รังไข่หยุดทำงานเร็วกว่าวัย บางกรณีถ้าสามารถรักษาโรคนั้นได้ รังไข่อาจจะกลับมาทำงานเป็นปกติเหมือนเดิม

สาเหตุที่ต้องผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากตัวโรคที่มดลูกหรือรังไข่ โดยแพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าระหว่างการเก็บเอาไว้กับการตัดออก อย่างใดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยหญิงอายุ 50 ปี รังไข่หยุดการทำงาน ไม่มีโอกาสมีลูกแล้ว เมื่อเกิดโรคที่มดลูก แพทย์อาจพิจารณาตัดมดลูกออก อีกประเด็นหนึ่งที่บางคนอาจสงสัยหรือเป็นกังวลคือ “การตัดมดลูกออกมีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่” ขอตอบว่า “การตัดมดลูกไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกช่องคลอดยังคงอยู่เป็นปกติ”

นอกจากนี้การผ่าตัดเนื้องอกหรือถุงน้ำในมดลูกหรือรังไข่ แพทย์ก็จะใช้หลักการเดียวกัน คือพิจารณาว่าการผ่าตัดนั้นได้ผลคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่เนื่องจากทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็ตาม เช่น ถ้ามดลูกมีเนื้องอกขนาด 2 เซนติเมตร  ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร โอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งน้อยมาก อย่างนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้าเนื้องอกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มเป็นมะเร็ง หรือส่งผลให้ประจำเดือนมามากจนกระทั่งซีดหรือเป็นลม กรณีนี้จำเป็นต้องผ่าตัดเอาออก รังไข่ก็เช่นกัน การมีถุงน้ำรังไข่ต้องตรวจดูก่อนว่าเป็นเพียงถุงน้ำธรรมดาหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่จะพบเป็นถุงน้ำธรรมดาขนาด 2 – 3 เซนติเมตร ขึ้นๆ ยุบๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายในแต่ละช่วง กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องทำอะไร และไม่ต้องกังวล แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มั่นใจ แพทย์จะนัดมาตรวจดูอีกครั้งในอีก 2 – 3 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าถุงน้ำยุบไปแล้ว แต่ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่เกิน 6 – 7 เซนติเมตร ร่วมกับมีก้อนแข็งๆ อย่างนี้ถือว่าผิดปกติ ต้องรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ข้อกังวลใจที่พบบ่อย
ทุกคนเมื่อรู้ว่าต้องผ่าตัด ไม่ว่าจะผ่าตัดเล็กหรือผ่าตัดใหญ่ ต่างก็มีความกลัวและวิตกกังวลใจด้วยกันทั้งนั้น ทั้งกลัวเจ็บ กลัวเสียเลือด กลัวติดเชื้อ กลัวภาวะแทรกซ้อน กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ที่กังวลมากที่สุดคือ “ความผิดปกตินั้นคืออะไรกันแน่” ถ้ารู้ชัดเจนว่าเป็นอะไร ผู้ป่วยมักไม่ค่อยกังวล แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่าตัดมักจะเป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่มะเร็ง สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้คือหลังการผ่าตัดสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ผู้รักษาด้วยว่าสรุปแล้วความผิดปกตินั้นคืออะไร เพราะอาจเป็นประโยชน์ในการซักประวัติหากต้องมารับการรักษาอาการป่วยอื่นๆ กับแพทย์ท่านอื่นในอนาคต

การตรวจภายในหลังตัดมดลูกหรือรังไข่
อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าตัดทั้งมดลูกและรังไข่ออกไปหรือไม่ ถ้าผ่าตัดเอาเฉพาะมดลูกออกแต่รังไข่ยังอยู่ หรือตัดเฉพาะรังไข่แต่มดลูกยังอยู่ กรณีนี้ควรมารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เนื่องจากอวัยวะทั้งสองเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย การตรวจจะช่วยให้พบความผิดปกติได้เร็ว เพิ่มโอกาสการรักษาหายขาด แต่ถ้าตัดทั้งมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด ก็ต้องมาพิจารณาถึงสาเหตุที่ต้องตัดออกว่าเป็นเพราะไร ถ้าตัดเพราะเนื้องอกมดลูกประกอบกับอายุมากแล้วจึงตัดรังไข่ออกไปด้วย เช่นนี้อาจไม่ต้องมาตรวจมะเร็งอีกเลยเพราะว่าไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดที่ปากมดลูก ถ้าตัดออกหมดแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ถ้าการตัดเพราะปากมดลูกมีความผิดปกติที่จะเป็นมะเร็งหรือเป็นมะเร็งไปแล้ว แบบนี้ยังคงต้องมารับการตรวจภายในอยู่ เพราะเซลล์ที่ปากมดลูกและช่องคลอดเป็นเซลล์ชนิดเดียวกัน ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติที่เซลล์บริเวณปากมดลูก ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดความผิดปกติที่เซลล์ช่องคลอด และอาจกลายไปเป็นมะเร็งปากช่องคลอดได้

 

article : ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ - หัวหน้าหน่วยวิจัยสตรีวัยหมดระดู

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthtoday.net/thailand/Disease_n/disease174_4.html