นัดพบแพทย์

ต่อมลูกหมากโต

17 Dec 2016 เปิดอ่าน 930

                     ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ต่อจากกระเพาะปัสสาวะลงไป โดยปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะ จะไหลผ่านต่อมลูกหมากไปสู่ท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากทำหน้าที่ผลิตน้ำเมือก และอาหารเลี้ยงตัวอสุจิ ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่เจริญเติบโตตามฮอร์โมนเพศชาย (Dihydrotstosterone) ซึ่งเหมือนกับอวัยวะเพศชาย แต่จะแตกต่างกัน คือ อวัยวะเพศชายหยุดการเจริญเติบโต เมื่อถึงเวลาอันสมควร (แต่อาจได้ขนาดที่ยังไม่พอใจ เลยไปฉีดสารเสริมแล้วต้องมาผ่าตัดเอาออก) ในขณะที่ต่อมลูกหมากสามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะว่าที่ต่อมลูกหมาก มีตัวรับรู้ฮอร์โมนเพศตลอดชีวิต แตกต่างจากอวัยวะเพศที่จะลดลงเรื่อยๆ หลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

  เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะ จึงไม่แปลกที่เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้น    จะกดเบียดท่อปัสสาวะจนทำให้การปัสสาวะลำบาก เกิดเป็นสาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต หรือ BPH/ Benign Prostate Hypertrophy  โดยมักพบในกลุ่มคนอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป และพบมากสุด ในคนอายุ มากกว่า 80 ปี

                                เมื่อผู้ชายอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งย่อมสูงขึ้น ส่งผลให้พบมะเร็ง   ต่อมลูกหมากได้มีการแนะนำว่า ในผู้ชายที่มีอายุ 40 – 70 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็ง   ต่อมลูกหมาก เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคเงียบ และค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการตรวจเจอตั้งแต่ระยะแรก มักจะทำการรักษาให้หายขาดได้  ต่อมลูกหมากติดเชื้อเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้   ซึ่งพบในกลุ่มชายอายุน้อยกว่า 50 ปี โดยจะมีอาการผิดปกติของการปัสสาวะ แบ่งเป็น 2 แบบ     คือ แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยอาการที่แสดงจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน การอักเสบแบบเฉียบพลันนั้น อาการแสดงจะรุนแรงกว่า โดยอาจพบว่ามีไข้ ปวดแสบโคนอวัยวะเพศ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ในการอักเสบแบบเรื้อรังนั้น อาการจะคล้ายกัน แต่รุนแรงน้อยกว่า และไม่พบว่ามีไข้

                              ในบทความนี้จะขออธิบายถึงภาวะต่อมลูกหมากโตก่อน ต่อมลูกหมากโตนั้นนับได้ว่า สามารถพบได้มากที่สุดในกลุ่มโรคของต่อมลูกหมาก โดยปกติแล้วต่อมลูกหมากมีขนาด 2 x 3 x 4 ซม. หรือ ประมาณ 22 กรัมในคนหนุ่มปกติ ต่อมลูกหมากแบ่งเป็น 3 zone คือ peripheral, transition และ central zone ส่วนtransitional zone เป็นส่วนสำคัญในการเกินภาวะต่อมลูกหมากโตที่สุด เพราะเป็นส่วนในสุดที่ล้อมรอบท่อปัสสาวะ โดยทั่วไปขนาดของต่อมลูกหมากจะไม่สัมพันธ์กับอาการผิดปกติของการปัสสาวะ แต่หากมีอาการผิดปกติมาก มักพบต่อมลูกหมากมีขนาดโตผิดปกติ

อาการผิดปกติในการปัสสาวะจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ

                               1.อาการระคายเคือง มักประกอบด้วยอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน กลั้นปัสสาวะลำบาก หรือกลั้นไม่ได้
                              2.อาการปัสสาวะลำบาก ประกอบด้วย การเบ่งปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเวลานานผิดปกติ ปัสสาวะไม่หมด ปัสสาวะกระปริด
 กระปรอย มีปัสสาวะหยดหลังจากปัสสาวะเสร็จแล้ว และปัสสาวะไม่พุ่ง หรือพุ่งไม่แรง

             อาการเหล่านี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมลูกหมากผิดปกติ ซึ่งในผู้ที่มีภาวะ ต่อมลูกหมากโต จะพบอาการปัสสาวะลำบากมากกว่าอาการระคายเคืองได้ ดังนั้นผู้ชายที่มีอายุมากขึ้น ร่วมกับอาการปัสสาวะผิดปกติดังกล่าว สงสัยได้ว่ามีภาวะต่อมลูกหมากโตซึ่งจะขัดขวางการปัสสาวะ หากมีอาการรบกวนมากขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาต่อไป

การรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต 

                                  การรักษานั้นขึ้นกับความรุนแรงและการรบกวนชีวิตของการปัสสาวะลำบาก โดยไม่ขึ้นกับขนาดของต่อมลูกหมาก และวิธีการรักษานั้นขึ้นกับอาการเช่นกัน ดังนี้:- 

                       1. การปรับการดำเนินชีวิต ไม่จำเป็นที่ผู้ชายที่มีอาการทุกคนจะต้องทำการรักษาด้วยการรับประทานยา หรือผ่าตัดทุกคน
เมื่อเริ่มมีอาการในขั้นต้น อาการมักจะมาด้วยปัสสาวะบ่อย ไม่สุด มีการปัสสาวะกลางคืน ดังนั้น การรักษาในขั้นนี้นั้นจะแนะนำให้ดื่มน้ำ ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่กลั้นปัสสาวะ และลดการดื่มน้ำก่อนนอน ร่วมกับงด หรือลด การดื่มชา กาแฟด้วย 

                        2.การรักษาด้วยการรับประทานยา เมื่อการปรับพฤติกรรมใช้ไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ดีพอ การใช้ยาจึงเป็นการรักษาลำดับ
ต่อไป ยาที่ใช้ในการรักษามี 3 กลุ่มยา กลุ่มแรกเป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากที่กระทำต่อท่อปัสสาวะ           ยากลุ่มนี้จะถูกเลือกใช้เป็นอันดับแรก หลังใช้แล้ว อาการจะดีขึ้น ในสองถึงสามวัน โดยอาจพบผลข้างเคียงเรื่องเวียนศีรษะ ความดันโลหิตลดต่ำลง หน้ามืด หรือ    เวียนศีรษะได้  ยาในกลุ่มที่สองนั้น จะให้เสริมกับยากลุ่มแรก เมื่อรับประทานยา  กลุ่มแรกแล้ว ไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่เพียงพอ ในยากลุ่มที่สามนั้นจะให้เฉพาะผู้ที่มีอาการปัสสาวะบ่อยกลางคืนเป็นหลัก เพราะภาวะต่อมลูกหมากโตนั้นในช่วงแรก    จะกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวขึ้น และบ่อยขึ้น เพื่อให้เอาชนะแรงต้านจากต่อมลูกหมาก ดังนั้นในตอนกลางคืนจะถูกกระตุ้นด้วย 

                       3.การรักษาโดยการผ่าตัด  การรักษาโดยการผ่าตัดนั้นจำเป็นในผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะต่อมลูกหมากโต
โดยเฉพาะผู้ที่ปัสสาวะไม่ออกหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาแล้ว การผ่าตัดที่นิยมทำกันในปัจจุบัน คือการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมาก วิธีนี้จะไม่มีแผลทางหน้าท้อง และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว แต่มีบางกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เช่น มีภาวะต่อมลูกหมากโต ร่วมกับมีนิ่วขนาดใหญ่ในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีความจำเป็นต้องผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะเพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้

        การผ่าตัดโดยการส่องกล้องภาวะแทรกซ้อน ที่สามารถพบได้บ่อยคือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ในช่วงแรกท่อปัสสาวะตีบในภายหลัง อีกทั้งระหว่างทำการผ่าตัด สามารถพบภาวะเลือดออกได้ อย่างไรก็ดี ภาวะแทรกซ้อนสามารถพบได้แม้ทำการเตรียมผู้ป่วยอย่างดีแล้วก็ตาม การตระหนักถึง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และเฝ้าระวังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยทุกคนครับ 

 

นายแพทย์สัภยา ศุภนันตฤกษ์

* ขอบคุณบทความจาก : http://www.somdej.or.th/index.php/2016-01-18-09-11-52