นัดพบแพทย์

ต้อกระจกจะรักษาเมื่อไรดี?

08 Dec 2016 เปิดอ่าน 1481

โรคต้อกระจกคือภาวะที่เลนส์ตามีความขุ่น จึงทำให้การมองเห็นมีปัญหา เช่นมองเห็นภาพมัวลง ออกแสงจ้าแล้วตามัวมากขึ้น ขับรถกลางคืนลำบาก หรือแม้แต่เห็นภาพซ้อนเบลอ

การรักษา ในปัจจุบันยังไม่มียากินหรือยาหยอดตาที่มีผลทดลองในคนว่าสามารถทำให้เลนส์ตากลับมาใสได้ดังเดิมนะครับ อาจมียาหยอดบางชนิดที่ช่วยชะลอความขุ่นของเลนส์ได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ทั้งหมด ดังนั้นการผ่าตัดสลายต้อกระจกจึงเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งการสลายต้อกระจกนั้นมีการพัฒนาไปมาก แผลที่ขอบตาดำมีขนาดเล็กเพียง2-3 มิลลิเมตร และใช้เครื่องมือที่ปล่อยคลื่นไปสลายต้อกระจก จากนั้นจึงใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนเลนส์เดิมซึ่งจะคงความใสตลอดชีวิต จักษุแพทย์อาจใช้เวลาสลายต้อกระจกเพียง 10-30 นาทีเท่านั้น นับว่ามีความปลอดภัยสูงและไม่เจ็บมาก คนไข้หลายๆคนบอกว่าไม่เจ็บเลยด้วยซ้ำ

ต้อกระจกมีหลายชนิดครับแต่ที่พบบ่อยคือความเสื่อมของเลนส์ตาในคนสูงอายุโดยเฉพาะอายุมากกว่า60 ปีก็จะพบได้มาก หากตัวเราเองหรือญาติเราเป็นต้อกระจก จะพิจารณารักษาเมื่อไรดีลองมาดูกันนะครับ

1 การมองเห็นที่ผิดปกตินั้นรบกวนชีวิตประจำวันของเรา เช่นมัวจนรำคาญ ทำงานไม่สะดวก บางคนไม่สามารถขับรถตอนกลางคืนได้เลยเพราะแสงไฟเป็นแฉกจ้าเต็มไปหมด บางครั้งต้อกระจกเป็นนิดเดียวแต่บังอยู่ตรงกลางภาพพอดี อย่างนี้ก็สามารถปรึกษาจักษุแพทย์ได้เลยครับ

2 ต้อกระจกขุ่นมากบดบังจนแพทย์ไม่สามารถทำการตรวจจอประสาทตาได้ ข้อนี้ก็มีความสำคัญครับ ยกตัวอย่างเช่นคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานทุกคนต้องได้รับการตรวจภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นระยะ หรือแม้แต่ให้การรักษาด้วยเลเซอร์ ถ้าต้อกระจกขุ่นมากจักษุแพทย์ก็ไม่สามารถตรวจรักษาโรคได้ อย่างนี้ก็อาจแนะนำให้สลายต้อกระจกไปพร้อมๆกันครับ

3 เกิดภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก หากเราปล่อยต้อกระจกทิ้งไว้นานๆตัวเลนส์อาจกดเบียดทำให้ช่องหน้าลูกตาแคบจนเกิดต้อหินเฉียบพลัน หรือต้อกระจกที่สุกเต็มที่อาจมีโปรตีนสลายตัวออกมาทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตารุนแรง ตาแดง กระจกตาบวม ความดันลูกตาสูง ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องทำการผ่าตัดโดยเร็ว ดังนั้นเราจึงไม่ควรปล่อยต้อกระจกทิ้งไว้ให้เป็นมากจนเกินไป

ปัจจุบันคนเรามีชีวิตยืนยาวกันมากขึ้น นั่นก็หมายความว่าเรามีโอกาสเป็นต้อกระจกกันมากขึ้น ลองใช้หลักการง่ายๆ3 ข้อนี้ในการพิจารณาเรื่องการสลายต้อกระจกนะครับ แล้วปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อการมองเห็นที่ดีของตัวท่านเองและคนที่ท่านรักครับ

นพ. ยิ่งพันธุ์ ธาราวัชรศาสตร์
จักษุแพทย์ รพ. พุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

 

* ขอบคุณบทความจาก : https://www.facebook.com/AllAboutEyebyRCOPT