หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท คือภาวะที่หมอนรองกระดูกสันหลังมีการยื่นหรือแตกออกบางส่วนแล้วไปกดทับเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังทำให้เกิดอาการต่างๆได้ เช่น ปวดหลังร่วมกับปวดร้าวลงขา ชาขา หรืออ่อนแรงกล้ามเนื้อขา เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยง แบ่งออกเป็น2ประเภทได้แก่
1. ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- เพศชาย
- การปวดหลังในอดีต, เคยมีหมอนรองกระดูกสันหลังแตกยื่น หรือเคยได้รับการผ่าตัดหลังมาก่อน
2. ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
- ลักษณะงาน เช่นงานที่ต้องใช้ร่างกายมากและรุนแรง, งานที่ต้องยกของหนัก ออกแรงดึงหรือพลักมากๆ งานที่ต้องก้ม, เอียงตัวหรือเอี้ยวตัวบ่อยๆ
- ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป
- การสูบบุหรี่
- มวลน้ำหนักร่างกายเกินมาตราฐาน
สาเหตุและอาการของโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
- มีการฉีกขาดหรือแตกของหมอนรองกระดูกสันหลังแล้วยื่นหรือเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทบริเวณนั้น ซึ่งอาจเกิดจาก2สาเหตุใหญ่ๆคือ
อายุของหมอนรองกระดูกที่มากขึ้น - การบาดเจ็บที่รุนแรงบริเวณหมอนรองกระดูก เช่น การยกของที่หนักเกินไป การบิดเอี้ยวตัวที่รุนแรง การทำพฤติกรรมซ้ำๆเช่นการก้มบ่อยๆหรือ การบาดเจ็บโดยตรงจากกีฬา
อาการอาจจะมีแค่ปวดหลังอย่างเดียวหรือมีอาการปวดหลังร้าวไปบริเวณสะโพกร่วมกับร้าวลงขาจนถึงบริเวณข้อเท้าและเท้าได้ หรืออาจจะมีการรับความรู้สึกที่ผิดปกติไปบริเวณขาและสะโพกเช่นรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มบริเวณนั้นหรือชาไปเลยก็ได้ อาจจะพบการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา หรือบางกรณีพบมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณขาหรือสะโพกได้
สัญญาณเตือนที่ควรรีบพบแพทย์
ได้รับอุบัติเหตุและมีอาการชาหรืออ่อนแรงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง ชาหรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เช่น การควบคุมปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ ปวดขาร่วมกับมีอ่อนแรงหรือมีการรับความรู้สึกที่ผิดปกติไปบริเวณขานั้น
แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
- การพักผ่อน เช่น การนอนราบบนพื้นหรือที่นอนที่แข็งปานกลาง และใช้หมอนหนุนใต้ศรีษะและใต้ข้อพับเข่า หรือนอนตะแคง การลดกิจกรรมต่างๆลงชั่วคราว เช่นการเดิน ควรหลีกเลี่ยงการเดินไกลหรือนานเกินไป ไม่ควรเดินขึ้นลงบันไดหรือทางชันถ้าไม่จำเป็น การลองประคบร้อนหรือประคบเย็น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในหลายๆการศึกษา แต่เราสามารถลองดูได้เช่น การประคบอุ่นประมาณ15-20 นาที ทุกๆ2-3ชั่วโมง หรือการประคบเย็น10-15นาที ทุกๆ2-3ชั่วโมง หรือลองสลับประคบร้อนและเย็นทุกๆ2-3ชั่วโมง
- ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหลัง
- การใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการปวดและลดการอักเสบ
- การทำกายภาพบำบัด
การผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท
แบ่งได้เป็น
-
การผ่าตัดแบบปกติ (Conventional Discectomy)
เป็นการรักษาแบบดั้งเดิม ปกติแผลจะมีขนาด8-10 เซ็นติเมตรขึ้นไป มีการเสียเลือดบ้างแต่มักจะไม่ถึงขนาดต้องให้เลือดหลังผ่าตัด มักจะมีอาการเจ็บแผลได้บ้าง และนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่เกิน 1 สัปดาห์ ปัจจุบันทั้งเทคนิคการผ่าตัดและอุปกรณ์การผ่าตัดพัฒนาไปมากขึ้น การผ่าตัดแบบนี้จึงนิยมน้อยลง
-
การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Mini-incision Discectomy)
เป็นการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดขึ้นมาจากเดิม ทำให้สามารถลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆลงได้มากกว่าปกติ ขนาดแผลสามารถลดน้อยลงเหลือประมาณ 2-4 เซ็นติเมตร ขึ้นอยู่กับระดับตำแหน่งและขนาดของหมอนรองกระดูกสันหลัง รวมถึงแผลจะมีขนาดใหญ่มากขึ้นถ้าผู้ป่วยมีขนาดร่างกายที่ใหญ่และหนา มักจะเสียเลือดน้อยหรือไม่เสียเลือดเลย ไม่จำเป็นต้องมีการให้เลือดหลังผ่าตัด และนอนพักในโรงพยาบาลเพียง1-2คืนเท่านั้น ทำให้การผ่าตัดวิธีนี้ได้รับความนิยมเนื่องจากการบาดเจ็บของร่างกายเกิดขึ้นน้อยถึงน้อยมาก ใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษใดๆ ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และได้ผลการรักษาที่ดี
-
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Endoscopic Discectomy)
เป็นการพัฒนานำเอาอุปกรณ์มาช่วยทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งกำลังนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสามารถลดขนาดของแผลผ่าตัดให้ลดลงมาเหลือประมาณ 2 เซ็นติเมตรเท่ากับขนาดของกล้องส่อง ทำให้มีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆน้อย มักจะเสียเลือดน้อย และการฟื้นตัวหลังผ่าตัดทำได้เร็ว นอนพักโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน
-
การผ่าตัดโดยใช้กล้องขยาย (Microscopic Discectomy)
เป็นการนำเอากล้องขยายมาช่วยใช้ในการผ่าตัด เพื่อช่วยขยายบริเวณที่ทำการผ่าตัดให้เห็นใหญ่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ทำการผ่าตัดนำเอาส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาทออก ทำให้ปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้น โดยการใช้กล้องส่องขยายนั้นสามารถนำมาใช้ร่วมกับการผ่าตัดโดยวิธีอื่นๆได้ด้วย เพื่อให้มีประสิทธิ์ภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ควรพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย จึงจะได้ผลดีในระดับน่าพอใจ ถ้าเลือกโรคที่เหมาะสมและได้แพทย์ที่ชำนาญสูงโดยผ่านการฝึกอบรมทางด้านนั้นๆ และได้ปฎิบัติจริงเกี่ยวกับวิธีการนั้นๆ มาแล้วเป็นอย่างดี การผ่าตัดก็จะประสบความสำเร็จ โรคที่เป็นอยู่ก็จะหายและคนไข้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้เหมือนเดิม
วิธีการดูแลตัวเองง่ายๆให้ห่างไกลจากโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- หยุดสูบบุหรี่
- ฝึกหัดการยกของให้ถูกวิธี
- ฝึกหัดการยืนเดินและนั่งให้ถูกวิธี
โดย : นพ. ไพบูลย์ เลาหสินนุรักษ์
ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81/