นัดพบแพทย์

ทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

09 Apr 2017 เปิดอ่าน 1138

ภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือดเฉียบพลันคืออะไร หมาย ถึง ภาวะที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันโดยสิ้นเชิง กล้ามเนื้อหัวใจเริ่มตาย อาการอาจเป็นอยู่นานกว่า 15 นาทีและไม่ทุเลาโดยการพักหรือได้รับยา

เมื่อเกิดอาการเจ็บเค้นหัวใจ อย่ารอนานหลายชั่วโมง เพราะเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดมาเลี้ยงนั้นจะเริ่มตายในไม่กี่นาที ดังนั้นในชั่วโมงแรกที่เกิดอาการเจ็บเค้นหัวใจจึงถือเป็น “ชั่วโมงทอง” ที่ควรรีบเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้

ใครคือผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

1. ผู้ที่มีไขมันในเลือดผิดปกติ และชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง

2. ผู้ที่สูบบุหรี่จัด

3. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

4. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

5. คนอ้วน และออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ

6. ผู้ที่มีอาการเครียดง่าย และ เครียดบ่อย

7. ผู้ที่มีประวัติ สมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

อาการ 1. เจ็บแน่นหน้าอก หรือรู้สึกไม่สบายบริเวณหน้าอก

2. อาการเจ็บหน้าอก ร้าวไปที่คอ แขน หรือขากรรไกร

3. เหงื่อออกมากจนรู้สึกหนาวบริเวณลำตัวส่วนบน อาจมีอาการวิงเวียน หายใจไม่ทั่วท้อง และคลื่นไส้ร่วมด้วย อาการที่กล่าวมาตามข้างต้นอาจ เกิดในขณะที่ออกกำลังกาย หรือมีอารมณ์เครียดอย่างกระทันหัน อาการเหล่านี้มักจะคงอยู่นานราว 1 – 10 นาที ผู้ป่วยอาจรู้สึกหายใจไม่ทันขณะที่ออกกำลังกาย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือรู้สึกแน่นอึดอัดท้องอย่างมาก ถ้าออกกำลังกายทันทีภายหลังรับประทานอาหาร

ควรทำอย่างไรเมื่อเริ่มเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

1. เตรียมตัวให้พร้อม เมื่อเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ไม่ควรเสียเวลาแม้แต่น้อย ควรบอกให้คนรอบข้างรู้และเข้าใจ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

2. บอกคนรอบข้างเมื่อมีอาการ ให้จับเวลาว่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นอยู่นานเท่าใด หากมีไนโตรกลีเซอรีน ที่ได้รับจากแพทย์ก็สามารถอมได้เลย

3. เลือกทางที่เร็วที่สุด ถ้า ท่านเจ็บเค้นหน้าอกนานกว่า 15 นาที ให้โทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือขอให้ใครขับรถไปส่งที่โรงพยาบาล อย่าพยายามขับรถเองโดยเด็ดขาด

4. เมื่อไปถึงโรงพยาบาล หากท่านไปถึงโรงพยาบาลเร็วเท่าใด ก็จะมีโอกาสลดความสูญเสียมากขึ้นเท่านั้น แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อบรรเทาอาการของท่านให้หายได้

5. บอกเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทันทีว่า ท่านมีอาการเจ็บเค้นหน้าอก เจ้าหน้าที่จะรีบตามแพทย์มาดูแลท่าน รวมถึงการให้ยา และการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ถึงแม้ว่าอาการเจ็บเค้นหน้าอกนั้นจะไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ท่านก็ยังได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาเพื่อให้เป็นปกติ

6. ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าท่านต้องใช้ยาดัง กล่าวหรือไม่ ยาเหล่านี้มีกลไกการออกฤทธิ์หลายประการ เช่น ตัวยาออกฤทธิ์ละลาย หรือสลายลิ่มเลือดโดยตรง หรือตัวยาไปกระตุ้นให้ร่างกายสลายลิ่มเลือดให้เร็วมากขึ้นว่าปกติ

7. การพักฟื้นในโรงพยาบาล ขอให้เตรียมใจว่าต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 – 3 วัน

ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบให้ละเอียดว่ากล้ามเนื้อหัวใจเสียหายไปแค่ไหน และคอยเฝ้าระวัง และรักษาภาวะแทรกซ้อนทั้งหลาย ท่านอาจได้รับการตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เดินสายพาน หรือ อัลตร้าซาวนด์หัวใจ เมื่อนำผลการตรวจทั้งหลายมาประมวลเข้าด้วยกัน แพทย์จะพิจารณาให้การดูแลรักษาต่อไป

ที่มา : นพ.มานัส เสถียรวงศ์นุษา

ขอบคุณบทความจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/oilpalm/2010/08/04/entry-1