นัดพบแพทย์

ทำไมเราต้องรักษาอาการนอนกรน แก้นอนกรน?

11 Sep 2016 เปิดอ่าน 588

คนทั่วไปคิดว่า อาการนอนกรนเป็นเรื่องปรกติ ไม่เป็นอันตราย แต่ความจริงแล้ว นอกจากการนอนกรน จะส่งเสียงรบกวนให้กับคนที่นอนข้างๆ หรือนอนร่วมห้องแล้ว ยังส่งผลต่อผู้ที่นอนกรนเองด้วย ถ้ามีสภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea, OSA) ร่วมด้วย

คนที่มีอาการนอนกรนเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่า คุณมีภาวะที่ไม่ปรกติ แต่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ร่วมด้วยหรือไม่นั้น จะต้องได้รับการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เท่านั้นถึงจะทราบ

อ.พญ.พิมล รัตนาอัมพวัลย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า

“โรคนอนกรนที่มีสภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยนั้น สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาของโรคกลุ่มนี้คือ การหายใจที่ไม่ปกติ ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการพยายามที่จะตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจเป็นพักๆ ข้อดีคือ เราสามารถที่จะกลับมาหายใจใหม่ได้ แต่ข้อเสียคือ การนอนของเราไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้การนอนหลับไม่ลึกเพียงพอ ร่างกายไม่สดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง

ยิ่งกว่านั้นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นคือ เรื่องของระบบหายใจและหลอดเลือด เพราะการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะทำให้หัวใจและหลอดเลือดต้องทำงานหนัก เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองแตก รวมไปถึงโรคหัวใจโตและเส้นเลือดหัวใจตีบได้

จริงๆ แล้ว นอนกรนเป็นภาวะที่พบบ่อยมาก การนอนกรนในบางรายก็ไม่ได้รุนแรงจนกระทั่งเกิดภาวะที่เรียกว่า หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น แต่ถ้าใครมีลักษณะของการหยุดหายใจเป็นพักๆ เสียงกรนมีการขาดช่วงไป แล้วมีเสียงดังครอกขึ้นมาครั้งใหญ่ เหมือนการขาดอากาศเฮือกใหญ่ หรือในกรณีที่เราคิดว่านอนพอแล้ว แต่ร่างกายกลับฟ้องว่า เรายังนอนไม่เต็มอิ่ม เช่น ตื่นเช้าขึ้นมา รู้สึกมึนศีรษะ ง่วงนอน อยากจะนอนต่อ มีการผล็อยหลับโดยไม่ได้ตั้งใจ สมาธิและความจำมีปัญหา ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง”

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.stopsnoring360.com/