นัดพบแพทย์

ท่อน้ำตาตัน ทำอย่างไรดี?

10 Aug 2016 เปิดอ่าน 2872

ใครจะไปคิดว่า แค่น้ำตาไหล (มาก) ก็เป็นสัญญาณของภาวะท่อน้ำตาอุดตันได้แล้ว ที่สำคัญอาการเหล่านี้ไม่ยกเว้นแม้ในเด็กทารกซะด้วยสิ แบบนี้เหล่าบรรดาคุณแม่ลูกอ่อนทั้งหลายคงต้องทำความรู้จักและหาทางหนีทีไล่ให้เจ้าตัวเล็กกันหน่อยดีกว่านะ

ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก โดยพบได้อย่างน้อย 6% ของทารกแรกเกิด ลักษณะอาการโดยทั่วไป เด็กจะตาแฉะ น้ำตาไหลมาก ทั้งที่ไม่ได้ร้องไห้ ซึ่งในตอนแรกอาการตาแฉะจะมีเพียงน้ำตาใสๆ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะพบว่าเด็กบางคนจะเริ่มมีขี้ตาเป็นสีเขียวมากขึ้น ซึ่งแสดงว่ามีเชื้อโรคเข้าไป และเกิดอาการติดเชื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้คุณพ่อหรือคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ลูกน้อยอายุ 2-3 สัปดาห์หลังคลอด

  • พังผืด ที่มาของการอุดตัน

 

ก่อนอื่นคงต้องรู้จักลักษณะทางกายภาพของทางเดินท่อน้ำตากันก่อน น้ำตาคนเราจะมีการหลั่งออกมาจากต่อมน้ำตาตลอดเวลา เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา น้ำตาที่ออกมานี้จะถูกปั๊มเข้าถุงทางเดินน้ำตา โดยการกะพริบตาแล้วน้ำตาก็จะไหลลงท่อน้ำตาซึ่งเปิดเข้าในจมูก (ถ้าสังเกตดูจะพบว่าเวลาเราหยอดตาแล้วรู้สึกขมๆ ในคอ)

โดยส่วนใหญ่เด็กทารกที่ท่อน้ำตาอุดตันมักเกิดจากมีแผ่นพังผืดบริเวณปลายรูเปิดท่อน้ำตาในจมูก เมื่อมีแผ่นพังผืดปิดที่รูเปิดของท่อน้ำตาในจมูก ทำให้น้ำตาขังเอ่อเข้าไปในลูกตา และเอ่อออกมาบริเวณดวงตาของเด็กในที่สุด

โดยตามธรรมชาติแล้ว ภาวะท่อน้ำตาอุดตันมักจะมีอาการดีขึ้นเองได้ถึง 90% ของผู้ป่วย แต่ก็มีกรณีที่เป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถหายได้เอง เหล่านี้จะทำให้น้ำตาที่ขังอยู่ในตานานๆ มีเชื้อโรคมาเจริญเติบโต เกิดการติดเชื้อบริเวณทางเดินน้ำตา ซึ่งอาจลุกลามต่อไป เข้าไปในเยื่อบุตา และกระจกตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบและกระจกตาอักเสบได้

 

  • น้ำตามาก สัญญาณโรคของ "ดวงตา"

 

แม้ลักษณะของภาวะที่เด็กมีน้ำตาขังอยู่ในตามากเป็นสัญญาณบอกถึงอาการของท่อน้ำตาอุดตัน แต่ก็ไม่ใช่อาการบ่งชี้แค่เพียงโรคนี้เท่านั้นนะครับ เพราะการที่เด็กมีน้ำตามากอาจเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตามีรอยถลอก กระจกตาอักเสบ มีเศษผงหรือสิ่งแปลกปลอมในตาหรือภาวะต้อหินในเด็กแรกเกิดก็เป็นได้ โดยเฉพาะภาวะต้อหินนี้นับว่าเป็นอาการที่รุนแรง เพราะหากเกิดในเด็กทารกแล้วจะมีผลทำให้ความดันภายในลูกตาสูงมาก เด็กจะมีอาการกระจกตาบวม และมีน้ำตาไหลมาก ซึ่งภาวะดังกล่าวถ้าทิ้งไว้ไม่ทำอะไร อาจตาบอดได้ ฉะนั้นถ้าลูกน้อยมีอาการเคืองตา น้ำตาไหลมาก ควรรีบพามาพบจักษุแพทย์ครับ

ยังมีภาวะท่อน้ำตาอุดตันอีกชนิดหนึ่งซึ่งนอกจากมีการอุดตันบริเวณรูเปิดในจมูกแล้ว ยังมีการอุดตันของท่อน้ำตาก่อนเข้าถุงทางเดินน้ำตา ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า Mucocele ของถุงน้ำตา มักพบในเด็กแรกเกิด ซึ่งนอกจากจะมีอาการน้ำตามากแล้ว ยังจะมีก้อนนูนสีออกน้ำเงินบริเวณหัวตาด้านข้างจมูก ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งจะให้การรักษาด้วยวิธีนวดบริเวณหัวตาร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะหยอดและป้ายตา ถ้าไม่ดีขึ้นมักต้องใช้แท่งโลหะ (Probe) แทงเพื่อเปิดรูท่อน้ำตา

 

  • ช่วยลูกได้ด้วย สองมือพ่อแม่

 

ส่วนใหญ่แล้วภาวะท่อน้ำตาอุดตันมักมีอาการดีขึ้นเองเมื่อทารกอายุได้ประมาณ 1 ปี ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการรักษาโดยทั่วไปจักษุแพทย์มักจะแนะนำให้คุณพ่อหรือคุณแม่นวดบริเวณหัวตา ซึ่งเป็นตำแหน่งของถุงทางเดินน้ำตา

การนวดนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความดันภายในท่อน้ำตาซึ่งจะดันให้แผ่นพังผืดซึ่งปิดบริเวณรูเปิดในจมูกเปิดออก นอกจากการนวดแล้วแพทย์ก็มักจะให้ยาปฏิชีวนะหยอดและป้ายตาด้วย

การนวดบริเวณหัวตาต้องนวดบ่อยๆ วันหนึ่งทำหลายๆ ครั้ง ถ้าวิธีการนวดหัวตาร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล จักษุแพทย์จะใช้แท่งโลหะ (Probe) ใส่ไปในท่อน้ำตาเพื่อเปิดท่อน้ำตาที่อุดตันให้เปิดออก ซึ่งถ้าไม่ได้ผลและเด็กยังมีอาการอยู่ จักษุแพทย์มักลองใช้แท่งโลหะขยายท่อน้ำตาซ้ำอีก 2-3 ครั้ง ร่วมกับการหักกระดูกอ่อนในโพรงจมูก ถ้ายังไม่ได้ผลอีก จักษุแพทย์จะต้องใช้ท่อซิลิโคนคาไว้ในท่อน้ำตา หรือใช้บอลลูนใส่ในท่อน้ำตาแล้วขยายท่อน้ำตา ถ้าทุกวิธีที่กล่าวมาไม่ประสบความสำเร็จ มักลงท้ายด้วยการผ่าตัดเปิดท่อทางเดินน้ำตาบริเวณถุงทางเดินน้ำตา ให้มีทางติดต่อเข้าไปในจมูก เพื่อให้น้ำตาไหลผ่านเข้าจมูกได้ครับ

การใช้แท่งโลหะ (Probe) ขยายท่อน้ำตา ก่อนที่จะใส่แท่งโลหะ (Probe) เข้าไปจักษุแพทย์ก็มักใช้ยาหยอดหรือในบางรายก็จะใช้การดมยาสลบให้แก่เด็กก่อน ส่วนการผ่าตัดอื่นๆ เรามักทำในเด็กที่ได้รับการดมยาสลบเพื่อที่เด็กจะได้ไม่รู้สึกเจ็บครับ


ความจริงแล้วโรคท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้แต่สามารถรักษาให้หายได้ และก็ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงอะไร คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปครับ วิธีการที่จะดูแลก็อย่างที่แนะนำไปแล้ว ซึ่งเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ เพียงแต่สิ่งสำคัญคือควรจะรีบพาลูกมาพบจักษุแพทย์ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องถึงวิธีการปฏิบัติโดยเฉพาะการนวดบริเวณหัวตา ไม่ควรไปหัดทำเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเด็ดขาด

หมอขอย้ำว่า แม้โรคนี้จะไม่ร้ายแรงแต่ก็ควรได้รับการปรึกษาจากจักษุแพทย์นะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าเจ้าตัวเล็กมีน้ำตาเอ่อในดวงตาก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและถูกต้องต่อไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกมีสุขภาพของดวงตาที่สมบูรณ์ยังไงล่ะครับ

ผศ.นพ.ธรรมนูญ สุรชาติกำธรกุล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=2020