นัดพบแพทย์

นกเขาไม่ขัน เรื่องที่ไม่น่าขัน

26 Aug 2016 เปิดอ่าน 1244

เช้าวันหนึ่งอากาศแจ่มใส ลุงใบอยู่ที่หน้าห้องตรวจ กำลังรอพบหมอด้วยสีหน้าเป็นกังวล สักครู่พยาบาลก็เรียกให้เข้าห้องตรวจ


คุณหมอ : สวัสดีครับคุณลุง เป็นอย่างไรบ้างครับ
ลุงใบ : เอ่อ...อ่า... นกเขาลุงมันไม่ขันครับคุณหมอ (หน้าแดงเชียวลุง)
คุณหมอ : ไม่ต้องกังวลครับ เพราะผู้ชายอายุ 40-70 ปี ประมาณร้อยละ 40 ก็ประสบปัญหานี้เหมือนกัน ว่าแต่คุณลุงเป็นมานานเท่าไรแล้ว
ลุงใบ : ค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 3 ปีได้ ไม่รู้เพราะอะไร
คุณหมอ : อาการแบบนี้ แบ่งสาเหตุเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ
           1. โรคทางกาย เช่น โรคหลอดเลือด (พบบ่อยที่สุด) โรคทางระบบประสาท ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย หรือเกิดจากยาบางชนิด
           2. โรคทางจิตใจ เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า ความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา
           3. โรคทางกายและทางใจ
ลุงใบ : โอ้โห ! ทำไมสาเหตุเยอะจัง แล้วปัจจัยเสี่ยงล่ะครับ
คุณหมอ : หลายสาเหตุครับ เช่น โรคอ้วน สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยิ่งมีหลายข้อยิ่งเสี่ยงมาก แล้วคุณลุงหล่ะครับมีข้อไหนบ้าง
ลุงใบ : ลุงไม่รู้เพราะไม่เคยตรวจ ไม่เคยกินยาอะไรประจำด้วย คุณหมอตรวจให้ลุงด้วยนะ
คุณหมอ : ได้ครับ เมื่อผมวัดความดันและตรวจร่างกายแล้ว จะตรวจเลือดหาเบาหวาน ไขมันในเลือด ฮอร์โมนเพศชาย และตรวจคลื่นหัวใจด้วย พรุ่งนี้ก็ทราบผลแล้วครับ

           ---เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ลุงใบตื่นเต้นรีบมาฟังผลเป็นคนแรก---
ลุงใบ : อรุณสวัสดิ์ครับคุณหมอ ผมลุ้นจนนอนไม่หลับเลย อยากรู้ผลตรวจ
คุณหมอ : คุณลุงตั้งใจฟังนะครับ คุณลุงเป็นทั้งเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง แต่ไม่ต้องกังวล โชคดีที่มาตรวจทันเวลา ทำให้สามารถรักษาได้ครับ
ลุงใบ : โชคดีจังเลยที่ได้มาตรวจกับคุณหมอ (ลุงใบพูดอย่างชื่นชม) ก่อนหน้านี้เคยไปปรึกษาแพทย์มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่แพทย์ไม่ได้ถามรายละเอียดหรือตรวจเช็คเลย บอกแต่เพียงว่าลุงแก่แล้วเข้าวัดเข้าวาเถอะ ทำเอาลุงจ๋อยไปเลย
คุณหมอ : ภาวะนกเขาไม่ขันเป็นเพียงปลายเหตุ เพราะที่จริงแล้วการที่คุณผู้ชายจะเกิดภาวะเช่นนี้ส่วนใหญ่มักจะมีโรคที่เป็นต้นเหตุแอบซ่อนอยู่ จึงจำเป็นต้องหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งต้องรักษาสาเหตุควบคู่ไปด้วย
ลุงใบ : แล้วคุณหมอจะรักษาผมอย่างไรครับ
คุณหมอ : เรื่องเบาหวาน ไขมันสูงและความดันโลหิตสูง หมอจะส่งลุงไปตรวจรักษากับอายุรแพทย์ที่ชำนาญด้านนี้ ส่วนเรื่องนกเขาไม่ขัน การรักษานอกจากจะลดปัจจัยเสี่ยงและรักษาโรคต้นเหตุที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการรักษาอีก 4 อย่างหลัก ๆ คือ
           1. ยากิน เพื่อขยายหลอดเลือดที่องคชาติใช้กินเป็นครั้งครั้งคราวก่อนร่วมเพศ
           2. ยาฉีดที่องคชาติ ใช้ในกรณีที่ยากินไม่ได้ผล
           3. กระบอกสูญญากาศ อาจใช้ร่วมกับยากินหรือฉีดได้
           4. ผ่าตัดใส่แกนที่องคชาติ (ใช้กรณีที่ใช้วิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล แต่มีราคาสูงมาก
(โดยปกติ หมอจะให้การรักษาด้วยยากินก่อน)
ลุงใบ : ลุงเคยอ่านข่าวว่ายากินสำหรับนกเขาไม่ขันมีอันตรายมาก ตายคาอกได้ จริงไหมครับ
คุณหมอ : ที่จริงแล้วยากินรักษานกเขาไม่ขันปลอดภัยค่อนข้างมาก แต่มีข้อห้ามใช้สำหรับผู้ที่กินยาขยายหลอดเลือดรักษาโรคหัวใจขาดเลือด และโรคตาบางประเภทเท่านั้น ส่วนอาการข้างเคียงจากยา เช่น ปวดศีรษะ หน้าแดง เสียดท้อง พบได้น้อย อาการไม่รุนแรงไม่ต้องกังวลครับ (คุณหมออมยิ้ม)
ลุงใบ : แล้วผมจะกินฮอร์โมนเพศชายเสริมด้วยได้ไหมครับ เห็นคนแถวบ้านไปซื้อกินกันหลายคน
คุณหมอ : อย่าเชียวนะครับ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด เวลานกเขาไม่ขันมักไปหาซื้อฮอร์โมนตามร้านขายยากิน ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะอาจไปกระตุ้นมะเร็งต่อมลูกหมากให้ลุกลามได้ นอกจากนั้น ภาวะนกเขาไม่ขันที่มีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนพบ เพียงเพียงร้อยละ 5 ของทั้งหมด ดังนั้นจึงควรตรวจฮอร์โมนในเลือดก่อน และถ้าขาดจริงก็ควรให้แพทย์ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก และความเสี่ยงอื่นๆก่อนใช้ แต่สำหรับคุณลุง หมอตรวจเลือดแล้วฮอร์โมนปกติไม่ต้องกินฮอร์โมนครับ
ลุงใบ : ขอบคุณคุณหมอมากนะครับ เหมือนยกภูเขาออกจากอก แหม ! คุณหมอดูคนไข้ละเอียดจังนะครับ ถ้าลุงมัวแต่อายอยู่ ไม่กล้ามาปรึกษาก็คงไม่ได้รักษาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงตั้งหลายโรคแน่ะ
คุณหมอ : ยินดีครับคุณลุง สวัสดีครับ ( คุณหมอยิ้มอย่างภูมิใจ )

 

อ.นพ. ธีระพล อมรเวชสุกิจ
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=386