นัดพบแพทย์

นิ้วล็อค (Trigger finger)

03 Aug 2016 เปิดอ่าน 7236

จากบทความที่แล้ว เกิดคำถามจากผู้อ่านหลายท่าน ว่าอันที่จริงแล้วนิ้วล็อค คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทางแอดมิน เห็นว่ายิ่งผู้อ่านได้ข้อมูลลึกซึ้ง ย่อมนำไปสู่การหลีกเลี่ยงโรคนี้ ได้ดีขึ้น บทความนี้จะขอลงลึกในรายละเอียดของโรคนี้นะครับ

--------------------------------------

ภาวะนิ้วล็อค หรือนิ้วไกปืน(Trigger finger) เกิดจากการที่เส้นเอ็นนิ้วมือมีการอักเสบ บวม จึงทำให้ลอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้ยาก(รูปที่1) ความจริงพังผืดหรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นนี้ทุกคนมีอยู่แล้วเป็นปกติ แต่เมื่อมีการบวมของเส้นเอ็นมากขึ้น จึงเกิดความผิดปกติ เสมือนว่ามีการรัดแน่นขึ้น ทำให้ขยับนิ้วได้ลำบาก(รูปที่2)

ระดับความรุนแรงของโรคนี้มี 4ระดับคือ
ระดับที่1 เริ่มมีอาการปวดเส้นเอ็นนิ้วมือ เวลางอ กำนิ้ว
ระดับที่2 ขยับนิ้วลำบาก มีการลั่น หรืออาจมีเสียงดังเวลางอ เหยียดนิ้ว ลักษณะคล้ายเวลาเหนี่ยวไกปืน
ระดับที่3 งอนิ้วแล้วเหยียดไม่ออก หรืองอนิ้วเข้ามาได้ไม่สุด ต้องใช้มืออีกข้างช่วย จึงจะขยับได้สุด
ระดับที่4 งอเหยียดไม่สุด แม้ว่าจะใช้มืออีกข้างช่วยแล้วก็ตาม

--------------------------------------

สาเหตุการเกิดโรคนี้ มักจะเกิดในคนที่มีการใช้งานมือกำ เกร็งอยู่เป็นเวลานาน หรือใช้แรงกำ เหนี่ยววัตถุบางอย่างมากผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการใช้งานออกแรงที่ไม่มาก แต่มีการกำแบย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น ในคนที่ทำงานคอมพิวเตอร์ ทำงานโรงงาน ช่างเย็บผ้า แม่ครัว คนซักผ้า ช่างไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเจอได้ในนักกีฬาบางประเภท เช่น นักเทนนิส นักปิงปอง(รูปที่3)

โรค หรือภาวะบางอย่างก็ทำให้มีอาการของนิ้วล็อคได้ อาทิ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ คนตั้งครรภ์ เนื่องจากโรค หรือภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้มีการบวมของเนื้อเยื่อ จึงเกิดการล็อคของเส้นเอ็นที่บวมนี้ตามมา 

ภาวะนิ้วล็อคมักเกิดในคนอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป โดยมักจะเป็นในนิ้วกลางและนิ้วนาง เราจะทราบได้ง่ายๆว่าเป็นโรคนี้ โดยการลองคลำเส้นเอ็นบริเวณฝ่ามือตรงส่วนที่ติดกับโคนนิ้ว จะคลำได้ก้อนบริเวณเส้นเอ็นของนิ้วที่มีอาการ และก้อนนี้เคลื่อนขึ้นลงตามการงอเหยียดของนิ้วนั้นๆ

--------------------------------------

การรักษา ทำได้ง่ายๆโดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุในการเกิด ซึ่งก็คือการเกร็ง กำวัตถุต่างๆอาจงด หรือลด การกระทำดังกล่าว ไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น 
แช่น้ำอุ่นบ่อยๆ การกำแบมือเบาๆ สามารถช่วยทุเลาอาการได้ หรืออาจร่วมกับใช้ท่าการยืดคลายเส้นเอ็นนิ้วมือ 6ท่าเพื่อบรรเทาอาการผิดปกติจากการปวดจนผู้ป่วยไม่ยอมขยับนิ้ว ดังบทความครั้งที่แล้ว

เหล่านี้เป็นการรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองถ้าทำแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีผลกับชีวิตประจำวัน อาจมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยการใช้ยา และการทำกายภาพบำบัด

ส่วนการรักษาในขั้นสูง(รูปที่4) อาจใช้วิธีการฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อแก้ไขภาวะอักเสบ บวมของเส้นเอ็นโดยตรง หรือถ้ายังมีอาการอยู่ อาจใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อคลายการรัดของพังผืดหรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นเป็นวิธีสุดท้าย
อย่างไรก็ตามการรักษาในขั้นสูง มีข้อดีข้อเสีย ในรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มาก จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อดูความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

--------------------------------------

เพื่อไม่ให้พลาดบทความดีๆ มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ 
ฝากกด Like กด Share ด้วยนะครับ
Orange Clinic - 25th Floor, Empire Tower

เอกสารอ้างอิง
Quinnell RC: Conservative management of trigger finger. Practitioner 1980; 224:187-190.Froimson AI. Tenosynovitis and tennis elbow. 4. Philadelphia: Churchill Livingstone; 1999.
Tung WL, Kuo LC, Lai KY, Jou IM, Sun YN, Su FC. Quantitative evidence of kinematics and functional differences in different graded trigger fingers. Clin Biomech (Bristol, Avon). 2010 Apr 16. 

บทความที่แล้ว
ท่าบริหารมือ เพื่อแก้นิ้วล็อค หรือโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ ที่จริงแล้วควรทำอย่างไร? กำลูกบอลช่วยได้จริงหรือ?
https://www.facebook.com/OrangeClinicTH/posts/267895040225276