นัดพบแพทย์

น่ากลัว... ไวรัสตับอักเสบ ซี

12 Sep 2016 เปิดอ่าน 2311

   คอลัมน์...สายตรงสุขภาพกับศิริราช
       ไวรัสตับอักเสบ ซี ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้คนมานานโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ เลย จนกว่าจะมีการเสื่อมของตับมากๆ อาจใช้เวลา 10-20 ปี หลังจากติดเชื้อ จึงเริ่มมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ อ่อนเพลีย ซึ่งตอนนั้นก็มักเกิดตับแข็งแล้ว ที่ร้ายอาจเป็นมะเร็งตับ แม้โรคนี้จะเพิ่งรู้จักกันไม่ถึง 20 ปี แต่ที่ฮือฮากันเพราะดาราพิธีกรเป็นโรคนี้กัน จึงทำให้ผู้คนอยากรู้จักมากขึ้น
       
       ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกราวร้อยละ 1-2 ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี คาดว่า อีก 20 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยภาวะตับแข็งเพิ่มขึ้นราว ร้อยละ 20 และอาจเกิดมะเร็งตับตามมาประมาณ ร้อยละ 3-5 ต่อปี ในบ้านเรา พบผู้ป่วยร้อยละ 1-2 หรือประมาณ 6-7 แสนคน และพบมากขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
       
       ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็น เชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) เชื้อไวรัสนี้มีขนาดเล็กมาก แม้ว่าจะใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่องก็ไม่สามารถมองเห็นได้ มีเพียงวิธีสกัดเอาสารพันธุกรรมของไวรัสแล้วนำมาขยายเพิ่มจำนวนล้านๆ เท่าจึงจะมองเห็น ไวรัส ซี ประกอบด้วย 6 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 การแบ่งสายพันธุ์ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงแต่เกี่ยวกับการรักษา ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รักษาง่าย คือ สายพันธุ์ 2 และ 3

การติดต่อส่วนใหญ่ มักผ่านทางการรับเลือด และส่วนประกอบของเลือดที่ไม่ใช่การบริจาคเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด โดยจะมีระยะฟักตัวประมาณ 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 25 อาจมีอาการอ่อนเพลีย ส่วนน้อยอาจเป็นโรคดีซ่าน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยเพียง ร้อยละ 15 เท่านั้น ที่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้ ส่วนอีกร้อยละ 85 จะมีอาการเรื้อรังทำให้ตับเสื่อมเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้
       
       จากการศึกษาในผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช กว่าร้อยละ 60 มีประวัติเคยได้รับเลือดก่อนปี 2533 ทำให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แต่ในปัจจุบัน ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลศิริราช และสภากาชาดไทยได้มีการตรวจกรองเลือดทุกถุง ทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยลง
       
       ความเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น จากการศึกษาทั้ง 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ พบผู้บริจาคเลือดที่มีประวัติติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเกินกว่า 6 เดือน มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี สูงถึงร้อยละ 95 นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่สักตามร่างกาย เจาะหู ฝังเข็มรักษาโรค หรือแม้กระทั่งการขลิบอวัยวะเพศ หากเครื่องมือไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดต่อได้ ในผู้ป่วยที่ฟอกเลือดล้างไตก็พบบ่อยขึ้นเช่นกัน ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และจากมารดาสู่ทารก พบน้อยมาก มีหลายท่านมักกังวลว่า ไวรัสตับอักเสบซี จะติดต่อโดยการดำเนินชีวิตประจำวันร่วมกันกับผู้ป่วยหรือไม่ อย่าง การกิน ใช้ห้องน้ำ ทำงาน การมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งมารดาให้นมบุตร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ขอเรียนให้สบายใจว่า พบได้น้อยมาก ไม่มีผลกระทบต่อกันแต่อย่างใด

    การวินิจฉัยสามารถทำได้โดย ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ หากผิดปกติ จะตรวจว่าเป็นตับอักเสบบีหรือซี ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบซี
       
       นำส่วนที่เป็นน้ำเหลืองไปตรวจหาภูมิต่อต้านไวรัสตับอักเสบ ซี หรือที่เรียกว่า “แอนติ เอช ซี วี (Anti-HCV)” โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300-400 บาท และรอผลประมาณ 1-3 วัน ในรายที่ผลเป็นบวกควรยืนยันด้วยการการตรวจไวรัสตับอักเสบซีโดยตรง โดยตรวจดูปริมาณไวรัสและสายพันธุ์ไวรัส ซึ่งการตรวจสายพันธุ์จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจต่อการรักษา เพราะอาจรักษาง่ายใช้เวลา 6 เดือน หรือเป็นปี แต่บางรายอาจต้องเอาเนื้อตับมาตรวจ เพื่อดูพยาธิสภาพของตับก่อนตัดสินใจรักษา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี ค่อนข้างสูง คืออย่างน้อยประมาณ 2-3 แสนบาท
       
       การรักษาในปัจจุบันใช้คู่กันทั้งยาฉีดและยากิน โดยฉีดสัปดาห์ละ 1 เข็ม กินยาทุกวัน 6 เดือนถึง 1 ปี ผลข้างเคียงของการใช้ยารักษาอาจเกิดความอ่อนเพลียได้ แต่เมื่อหายแล้วจะหายขาดและตับก็จะดีขึ้น ดูเหมือนว่าการรักษาแพงแต่เพียงไม่กี่เดือนหากเทียบกับโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูงต้องรักษาตลอดชีวิตและต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่ากันมากๆ เพียงแต่เหมือนผ่อนทีละน้อยๆ
       
       สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถใช้ชีวิต และออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ลืมพักผ่อนให้พอเพียง ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ไวรัสแบ่งตัวมากขึ้นและตับเสื่อมเร็วขึ้น ไม่กินยาเองโดยปราศจากคำสั่งของแพทย์ และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับ AST และ ALT ว่า การอักเสบของตับอยู่ในระดับใด อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องตกใจกับระดับค่าที่วัดได้ เพราะไม่มีส่วนสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการอักเสบ ซึ่งโดยธรรมชาติ ไวรัสชนิดนี้จะมีระดับขึ้นๆ ลงๆ เป็นปกติอยู่แล้ว หากแพทย์พบว่าตับของท่านอักเสบต่อเนื่อง อาจพิจารณาให้การรักษา
       
       อย่างไรก็ตาม คาดว่า ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเพราะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ ฉะนั้นควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อหาทางป้องกันหรือรักษาอย่างทันท่วงทีในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ
       

 

รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000018383