นัดพบแพทย์

น่าห่วง...ไทยป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น

12 Sep 2016 เปิดอ่าน 1420

  แพทย์เผยไทยป่วยโรคไตเพิ่มจากอัตรา 300 เป็น 700 ต่อล้านประชากร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ชี้หากไม่ควบคุมให้ดี อีก 10 ปีข้างหน้ายอดพุ่งอีก 40% ชี้สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกิน ทั้งของเค็ม ซดอาหารเสริม วิตามินซีมากเกิน 100-500 มก./วัน เป็นเวลานาน 

     นพ.สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตที่เข้ามารักษาในระบบประมาณ 5 หมื่น เพิ่มขึ้นจากอัตราการเกิดที่ 300 ต่อล้านประชากร มาเป็น 700 ต่อล้านประชากร ในจำนวนนี้รักษาด้วยกายฟอกเลือก 70% ล้างไตทางช่องท้อง 20% และปลูกถ่ายไต 10% อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ จะส่งผลให้เป็นโรคไตในอนาคตประมาณ 60% ทั้งนี้ หากไม่ควบคุมให้ดีๆ คาดว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าจะส่งผลให้เป็นโรคไตตามมาประมาณ 40% และจากนั้นอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดปัญหาไตวายเรื้อรัง

    ทั้งนี้ นอกจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคไตคือ การอั้นฉี่จนเกิดภาวะเกิดนิ่วที่ไต การอักเสบของหลอดเลือดฝอย ปัสสาวะเป็นเลือด การรับประทานยาแก้ปวดเป็นเวลานาน การรับประทานผลไม้บางชนิด เช่น มะเฟือง ที่มีกรดออกซาลิก แอซิด จำนวนมากและเป็นเวลานาน การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม โดยเฉพาะปัจจุบันที่คนนิยมรับประทานวิตามินซีในปริมาณสูงเกินกว่า 100-500 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสม เป็นเวลานาน ซึ่งที่จริงไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย เพียงแค่รับประทานผัก-ผลไม้สดก็ได้วิตามินซีแล้ว อีกทั้งบางครั้งยังขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น ภาคอีสานจะมีปัญหาเป็นนิ่วมาก ภาคใต้ที่นิยมรับประทานลูกไหน ก็ทำให้เป็นนิ่วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรไปรับการตรวจสภาพการทำงานของไตอย่างน้อยปีละครั้ง หากยังไม่พบความผิดปกติก็ให้ดูแลร่างกาย และเฝ้าระวังสุขภาพของตัวเอง หากมีอาการบวมตามขา ก้นกบ ใบหน้า ให้รีบไปตรวจหาโรคไต

          “ที่ประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องนี้กันมานาน แต่คนยังเป็นโรคไตกันเพิ่มขึ้น เป็นเพราะไม่ตระหนักกัน มีความอยากต่างๆ นับว่าโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ดังนั้นการป้องกันที่ดีคือยังย้ำว่าต้องลดเค็ม เพราะเป็นตัวการให้เกิดความดันสูง ต้องคุมเบาหวาน คุมน้ำตาลให้ดี” นพ.สมเกียรติกล่าว.

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th