นัดพบแพทย์

น้ำเข้าหู (Swimmer’s ear)

06 Sep 2016 เปิดอ่าน 12697

หลายท่านคงเคยประสบปัญหาน้ำเข้าหูมาแล้ว อาจเกิดระหว่างว่ายน้ำ อาบน้ำหรือสระผม เป็นต้น ทำให้เกิดอาการหูอื้อ รู้สึกเหมือนมีเสียงน้ำอยู่ในหู การได้ยินลดลง ก่อให้เกิดความรำคาญขึ้น หลายท่านพยายามจะเอาน้ำออกหูด้วยวิธีต่างๆ เช่น ตะแคงศีรษะแล้วตบที่หู เอาน้ำหยอดไปอีกครั้งเพื่อให้น้ำเต็มหูและออกมาเอง หรือบางคนใช้ไม้แคะหู ปั่นหู เพื่อเอาน้ำออกจนเกิดแผลถลอก และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบตามมาได้ ภาวะที่หูชั้นนอกอักเสบนั้น เรียกว่า “Otitis externa หรือ Swimmer’s ear” นั่นเอง หากเป็น Swimmer’s ear เราจะมีวิธีการดูแลรักษาตัวเองอย่างไร แล้วจะต้องพบแพทย์เมื่อใด บทความนี้ได้มาจา่กการอ่านบทความของ ท่านแพทย์หญิง วัชราภรณ์ บัวโฉม แพทย์ หู คอ จมูก ซึ่งเขียนบทความได้ดีมาก ๆ ค่ะ 
หูชั้นนอกอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการของหูชั้นนอกอักเสบติดเชื้อ คือ ปวดหู หูอื้อ มีน้ำ หรือน้ำเหลืองไหลจากหู แพทย์ตรวจจะพบมีช่องหู บวม แดง มองเห็นแก้วหูไม่ชัด (ใช้เครื่องมือส่องดูในช่องหู) กดเจ็บบริเวณหน้าใบหู โยกใบหูแล้วเจ็บมากขึ้น

เมื่อน้ำเข้าหูควรทำอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

โดยปกติช่องหูชั้นนอกจะเป็นรูปตัวเอส (S) ฉะนั้น เมื่อมีน้ำเข้าหู แนะนำให้เอียงศีรษะเอาหูข้างที่น้ำเข้าลงต่ำและดึงใบหูให้กางออก โดยดึงขึ้นบนและไปทางด้านหลังเพื่อทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง ทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้ง่าย ไม่ควรปั่นหรือแคะหูเพราะจะทำให้หูอักเสบ แต่ถ้าปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว น้ำยังไม่ออกจากช่องหู แนะนำพบแพทย์หู คอ จมูก
 
แนวทางการตรวจและรักษาน้ำเข้าหูและหูชั้นนอกอักเสบทำอย่างไรบ้าง?
 
ในการตรวจและดูแลรักษา แพทย์จะส่องตรวจหูด้วยเครื่องมือ ประเมินอาการบวมอักเสบของช่องหูว่า มีอาการมากน้อยเพียงใด ถ้าพบมีอาการบวมมาก แพทย์มักจะใส่สำลีชุบยาฆ่าเชื้อ (Ear wick) ไว้ที่หูชั้นนอกร่วมกับให้ยาหยอดหู และนัดเปลี่ยน Ear wick ประมาณ 48-72 ชั่วโมง
ยาที่ผู้ป่วยได้รับ ได้แก่ ยาหยอดหู เช่น Sofradex เป็นต้น และให้กินยาแก้อักเสบ/ยาปฏิชีวนะ เช่น Cloxacillin เพื่อยาครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคส่วนใหญ่ ซึ่งคือ Staphylococcus aureus แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานอาจใช้ยาเป็น Ciprofloxacin เพื่อครอบคลุมเชื้อ Pseudomonas aeruginosa เป็นต้น
ส่วนยาอื่นๆมักใช้เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวด (เช่น ยาพาราเซตามอล/Paracetamol) ทั้งนี้ขึ้นกับอาการ ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก
ทั้งนี้ แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการ อาจทุก 2-3 วันตามความรุนแรงของอาการและตามดุลพินิจของแพทย์/แพทย์หู คอ จมูกจนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 7-14 วัน
 
มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากหูชั้นนอกอักเสบไหม?
 
ส่วนใหญ่โรคนี้ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เร็ว จึงพบผลข้างเคียงแทรกซ้อนน้อยมาก แต่ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการปวดมาก บางคนช่องหู บวม แดง ตีบทำให้การได้ยินลดลง และในผู้ป่วยกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เมื่อมีการอักเสบมักรุนแรงมาก ถ้ารักษาไม่ทันอาจมีผลต่อเส้นประสาทเลี้ยงบริเวณใบหน้า ทำให้มีหน้าเบี้ยวหรือถ้าเป็นมากขึ้น อาจติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นสมอง (สมองอักเสบ) และอาจเสียชีวิตได้
 
หลังพบแพทย์แล้วควรดูแลตนเองอย่างไร?
 
หลังพบแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก แล้ว การดูแลตนเอง คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ให้น้ำเข้าหู ไม่ปั่น หรือแคะหู ทานยา และหยอดยาตามคำแนะนำของแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก ซึ่งโดยทั่วไปอาการปวด บวมจะทุเลาลงเรื่อยๆจนกระทั่งหายเป็นปกติ
นอกจากนั้น คือ ควรต้องพบแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก ตามนัดเสมอ และควรพบก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดหูมากขึ้น หูบวมแดงมากขึ้น ปวดศีรษะมาก หรือเกิดมีไข้ เป็นต้น

กลับไปว่ายน้ำได้เมื่อไร?
 
เมื่อหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปว่ายน้ำได้ตามปกติ แต่แนะนำห้ามน้ำเข้าหู และห้ามปั่นหู เพราะมีโอกาสที่หูชั้นนอกจะอักเสบได้อีก ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเพื่อความเข้าใจตรงกันระหว่างแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูกและผู้ป่วยว่าโรคหายแล้ว ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก ก่อนกลับไปว่ายน้ำอีก จะเหมาะสมกว่า
 
เมื่อคันหูควรทำอย่างไร?
ถ้ามีอาการคันหูทั้งในช่วงมีอาการช่องหูอักเสบหรือในภาวะปกติ แนะนำให้ผู้ป่วยดึงขยับใบหูเบาๆ จะช่วยบรรเทาอาการคันหูได้ดี โดยไม่ต้องใช้ไม้แคะหูหรือปั่นหู ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู จะเป็นการป้องกันหรือเป็นการรักษาอาการคันหูที่มีประสิทธิภาพที่สุด
การทำให้รอบ ๆ หู และใบหูแห้งก็เป็นอีกวิธีช่วยลดอาการคันหู ดังนั้น ภายหลังอาบน้ำหรือว่ายน้ำ ควรใช้ผ้าเช็ดตัวแห้งและสะอาดเช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ หู และใบหูให้แห้ง
และในคนทั่วไป เมื่อมีปัญหาคันหูมากและบ่อย ควรพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุและเพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมเพราะอาจเกิดจากปัญหามีขี้หูมากหรือมีขี้หูอุดตันหรือช่องหูติดเชื้อราได้
 
แนวทางการป้องกันน้ำเข้าหูทำอย่างไร?

สำหรับบุคคลที่มีปัญหาทางหู เช่น แก้วหูทะลุหรือใส่ท่อระบายที่แก้วหูหรือหูชั้นนอกอักเสบบ่อย ๆ แพทย์มักแนะนำไม่ให้น้ำเข้าหู ฉะนั้น ควรป้องกันอย่างเคร่งครัด เช่น
  • ในขณะอาบน้ำ ให้ใช้หมวกคลุมผม คลุมลงมาปิดบริเวณใบหู ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และช่วยป้องกันน้ำเข้าหูได้ดี
  • ใส่วัสดุอุดรูหู (Ear plug) ที่นักดำน้ำใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู หรือ
  • ใช้วัสดุที่หล่อขึ้นเองให้เข้ากับขนาดช่องหู (Ear mold) ซึ่งสามารถกันน้ำได้ดี มีทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบสั่งทำตามโรงพยาบาลที่มีนักตรวจการได้ยิน (มักเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์) โดยโรงพยาบาลหล่อขึ้นเองให้เหมาะกับหูของบุคคลนั้น ๆ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://ideaneverdie.blogspot.com/2013/04/swimmers-ear.html