นัดพบแพทย์

ปวดข้อเข่า อย่าปล่อยนาน

26 Feb 2017 เปิดอ่าน 914

หัวเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายและทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย อีกทั้งช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวสะดวกสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ หากข้อเข่ามีปัญหามีอาการปวดข้อเข่าขึ้นมาจะทำให้เคลื่อนไหวลำบากส่งผลกระทบมากมายต่อคุณภาพชีวิต หลายคนคงเคยได้ยินกับคำบ่นของคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ว่ามีอาการปวดข้อเข่า ปวดขาเวลาเดิน หรือเวลายืนนาน ๆก็ปวด อาการเหล่านี้บางคนคิดว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่แท้ที่จริงมีอันตรายมากมายที่ซ่อนอยู่ จึงเป็นอีกหนึ่งอาการที่ไม่ควรปล่อยไว้นาน

สาเหตุของอาการปวดข้อเข่าคืออะไร

สาเหตุมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ

  1. เกิดจากอุบัติเหตุ จากการเล่นกีฬา ซึ่งอาการบาดเจ็บจากสาเหตุนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่โดยมากก็จะเป็นในคนอายุน้อยวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ความรุนแรงของสาเหตุนี้ก็เป็นได้ตั้งแต่เบาไปจนถึงหนัก เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หมอนรองกระดูกข้อเข่าขาด หรือ เส้นเอ็นฉีกขาด เป็นต้น มักจะมีอาการปวดข้อเข่าหรือข้อบวมทันทีภายหลังจากอุบัติเหตุ
  2. เกิดจากโรคข้ออักเสบต่าง ๆ เช่น เก๊าท์ รูมาตอยด์ เป็นต้น โรครูมาตอยด์ เรายังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ส่วนโรคเก๊าท์เกิดจากการที่มีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ นอกจากโรคข้อแล้วกลุ่มนี้ยังรวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดด้วย ซึ่งการติดเชื้อนี้ก็สามารถทำให้ปวดข้อเข่าได้เช่นกัน
  3. เกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อตามอายุ เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกสะสมมาเป็นเวลานาน เกิดความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า จนสึกหรอและบางลงเรื่อย ๆ เมื่อกระดูกอ่อนเกิดการเสื่อมจนกระดูกบางลงมาก ๆ จะทำให้ปลายกระดูกของข้อเกิดการเสียดสีกันเกิดอาการเจ็บปวด กลุ่มนี้ก็จะพบได้ตั้งแต่คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการปวดข้อเข่าบ้าง

จริง ๆ แล้ววิถีชีวิตของคนไทยเรา ก็ส่งผลโดยตรงให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้อยู่แล้ว อย่างการนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ ท่าทางการนั่งเหล่านี้ก็มีผลต่อข้อเข่า บางคนต้องนั่งอยู่ในท่าทางแบบนี้นานๆอย่างนั่งสวดมนต์ ก็ทำให้เกิดปวดข้อเข่าขึ้นได้ อีกทั้งบางทียังมีพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ผิดๆ อีกอย่างบางคนมีน้ำหนักตัวมากอยู่แล้ว และต้องทำงานที่ต้องแบกหามหรือยกของหนักเป็นประจำ แบบนี้ก็จะทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อเข่าหนักขึ้น หรืออย่างในชีวิตประจำวันของบางคนต้องทำงานที่ตึกสูงประจำ และต้องเดินขึ้นบันไดเป็นส่วนมาก การก้าวเดินขึ้นที่สูงแบบนี้บ่อย ๆ ก็ส่งผลต่อเข่าได้เช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าทั้งสิ้น

ปวดข้อเข่าแบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์

  1. มีอาการปวดและไม่สามารถยืนหรือทิ้งน้ำหนักลงได้
  2. มีอาการปวดข้อเข่าอย่างรุนแรง และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. มีอาการข้อติดหรือข้อขัด เคลื่อนไหวข้อไม่เต็มที่
  4. มีการบวมและร้อนของข้อเข่าหรือบริเวณรอบๆข้อ

การรักษาอาการปวดข้อเข่าทำได้อย่างไรบ้าง

ในส่วนของการรักษา หมอก็จะทำการพิจารณาเป็นรายๆ ไป ดูจากสาเหตุและความหนักเบาของอาการถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน หมอก็จะให้หยุดพักการใช้ข้อเข่า อาจใช้ผ้ายืดพันเข่าไว้ถ้ามีอาการปวดเข่ามากเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นการชั่วคราว และให้คนไข้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ใช้เข่าน้อยลง

การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด และการใช้ยารักษา

รักษาด้วยกายภาพบำบัดอาจมีการประคบร้อนหรือเย็นช่วยด้วยก็ได้ บางรายก็จะให้รับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยซึ่งเป็นยาแก้ปวดทั่วไปไม่อันตรายต่อร่างกายนัก แต่ถ้าในรายที่มีอาการมานานเรื้อรังในกลุ่มสงสัยข้อเข่าเสื่อมก็จะมีการรักษาด้วยยา หมอจะให้ยารับประทานแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แต่ยากลุ่มนี้ก็จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง ยาบางตัวอาจจะส่งผลรบกวนต่อกระเพาะอาหารได้ การใช้ยาตรงนี้จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ ถ้าหายก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่ถ้ารับประทานยาแล้วอาการปวดไม่บรรเทา ก็อาจรักษาด้วยยาฉีด ได้แก่ การฉีดสเตียรอยด์ และการฉีดน้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic Acid) ซึ่งยาสเตียรอยด์ถ้าฉีดมากก็มีข้อเสีย เพราะสเตียรอยด์อาจส่งผลตรงกันข้ามคือไปกัดกร่อนกระดูกได้เหมือนกัน ส่วนการฉีดน้ำไขข้อเทียมส่วนมาก เราก็จะใช้ในกรณีที่คนไข้ข้อเข่าเสื่อม ฉีดเข้าไปเพื่อทดแทนน้ำเลี้ยงไขข้อเดิมที่เสื่อมคุณภาพจากอายุการใช้งานหรืออาจจะให้คนไข้รับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนเสริมเพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อเข่า

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

ซึ่งถ้ารักษาด้วยวิธีการทำกายภาพและรักษาด้วยยาทั้งหมดแล้วยังไม่หาย แพทย์จะพิจารณาเรื่องของการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนี้ก็สามารถทำได้หลายวิธีเช่นกัน ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากสาเหตุอาการปวดข้อเข่าคนไข้ด้วย ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการผิวข้อเข่าเสื่อม และอายุของผู้ป่วยยังไม่มาก หมอก็อาจจะพิจารณาการผ่าตัดดัดเข่า เปลี่ยนจุดรับน้ำหนักของข้อเข่าเป็นการชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า หรือในรายที่มีการฉีกขาดของกระดูกอ่อนก็จะใช้การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า (Arthroscopy)ในการรักษาหากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามากในข้อเข่าเสื่อมมีการผิดรูปของข้อเข่าเช่น เข่าโก่งเข้าหรือโก่งออก หมอก็จะใช้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผลของการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งในเวลาอันรวดเร็ว

ทำอย่างไรให้ห่างไกลอาการปวดข้อเข่า

  1. ใช้เข่าให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้น การนั่งพับเพียบ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งยอง ๆ ปรับเปลี่ยนนั่งเก้าอี้ที่มีความ สูงระดับเข่า การยกของหนักบ่อย ๆ การเดินหรือวิ่งขึ้นลงบันไดหรือขึ้นที่สูงชัน
  2. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  3. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเข่า
  4. ควรหมั่นทำการเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขา (Quadricep) เพราะกล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงกระดูกข้อต่อและเอ็นเข่า ฉะนั้นการบริหารกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงจะช่วยแบ่งเบาการทำงานของข้อเข่าและเอ็น

ดังนั้นเราจะพบว่าอาการปวดข้อเข่าเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง และการรักษาก็มีมากมายปรับเปลี่ยนไปตามสาเหตุและอาการที่เป็น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราทุกคนต้องหันมาใส่ใจกับการดูแลเข่าของเราเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะเข่าของเรารับภาระที่หนักมาโดยตลอดถ้าเราไม่ใส่ใจดูแลเข่าเสียบ้าง ข้อเข่าอาจจะน้อยใจและพาลจะไม่ทำหน้าที่ประคองน้ำหนักร่างกายของเราอีกต่อไป คือ ข้อเข่าอาจจะเสื่อมเร็วขึ้นจนใช้งานเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว การดูแลข้อเข่าจึงเป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจอย่างยิ่ง ถ้าคุณเริ่มมีอาการปวดข้อเข่า ก็อย่าปล่อยเอาไว้นานควรรีบไปพบแพทย์ทำการรักษาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆเพื่อเป็นการถนอมรักษาข้อเข่าของเราไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดย :  นพ. วิกรม จารุสถิระกุล

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2/