อาจดูอาจดูเหมือนเป็นอะไรที่ไม่ร้ายแรง และหลายคนก็คิดว่ายอมรับสภาพได้ ผู้สูงวัยหลายท่านพึ่งพาแพมเพิร์สกันเป็นปกติ เพราะอาการของโรคปัสสาวะเล็ดราดถึงจะไม่ร้ายแรง ทว่าก็เป็นอีกหนึ่งโรคซึ่งรบกวนความปกติของวิถีชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง
นพ.ดนัยพันธ์ อัครสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายถึงอาการของโรคนี้ว่ามีตั้งแต่อาการเบาสุดไปจนถึงหนักสุด อาการเบาๆ ก็คือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ แต่ที่หนักสุดก็คือ ห้ามใจไม่ได้เลย ปวดทีไรต้องเข้าห้องน้ำทุกที ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ และแถมปวดทีไรก็จะมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา เช่นเดียวกับเวลาไอหรือจามหรือแม้กระทั่งหัวเราะบางคนก็มีปัสสาวะเล็ดออกมาด้วยเช่นกัน
“ในทางการแพทย์เขาใช้คำว่า โอเอบี ซึ่งย่อมาจาก overactive bladder หมายถึงกระเพาะปัสสาวะทำงานไว และการบีบตัวไม่เป็นจังหวะ แต่ก่อนอื่นเราต้องย้อนไปดูก่อนว่า กระเพาะปัสสาวะมันทำงานอะไรบ้าง กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่เป็นตัวเก็บและตัวขับ หน้าที่ของมันเหมือนกับลูกโป่ง คือ ยืดได้และก็ต้องหดลงมาได้ เมื่อไหร่ที่มันยืดหมายถึงปัสสาวะมันจะเข้ามาเก็บอยู่ในถุงใบนี้ มันจะเก็บไว้ประมาณหนึ่งร้อยหรือสองร้อยซีซีแล้วเราก็จะเริ่มรู้สึกปวดปัสสาวะนิดๆ สำหรับคนทั่วไปก็จะส่งความรู้สึกมาที่สมอง แล้วรอก่อนได้ กระทั่งมันยืดต่อไปจนถึงประมาณ 3-4 ร้อยซีซีจะเริ่มปวดมาก แต่เราก็ยังจะควบคุมได้ 5 นาที หรือ 10 นาที หรือเลื่อนต่อไปได้ แต่ถ้าเราจะไปปัสสาวะในช่วง 3-4 ร้อยซีซีกระเพาะปัสสาวะมันจะบีบตัวของมันเอง พอไปถึงห้องน้ำมันก็จะบีบตัวออกมาเองโดยที่เราไม่ต้องเบ่ง อันนี้คือการทำงานเป็นปกติ”
นพ.ดนัย กล่าวว่า โดยทั่วไป ผู้หญิงน่าจะเป็นมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเนื่องจากผู้หญิงจะมีหูรูดซึ่งทำหน้าที่ปลดปล่อยปัสสาวะเพียงสองอัน แต่ผู้ชายมีสามอัน และเมื่อวันวัยล่วงเลย การทำงานของหูรูดเสื่อมสภาพลงทำให้ควบคุมปัสสาวะได้น้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ชาย เมื่อถึงวัยหนึ่งต่อมลูกหมากที่โตขึ้นจะไปก่อให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการบีบตัวบ่อยขึ้น ทำให้โอกาสที่จะเกิดอาการโอเอบีสูงมากขึ้นเช่นกัน โดยอัตราเฉลี่ยของผู้มีโอกาสจะเป็นโรคนี้เริ่มต้นที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
ปกติคนเราจะปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งต่อวัน ปริมาณจะอยู่ที่สองลิตรครึ่ง ซึ่งถือว่ามากแล้ว แต่ถ้าสิบครั้งต่อวัน และครั้งละ 3 ร้อยซีซีขึ้นไปจะเท่ากับสามลิตร สามลิตรถือว่าเยอะเกินไป อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่เกิดอาการโอเอบีมักจะครั้งหนึ่งไม่ถึงสามร้อยซีซี อาจจะ 50 หรือ 100 ซีซี และอาจจะปัสสาวะวันหนึ่งถึง 20 หนเลยทีเดียว
นายแพทย์แห่งโรงพยาบาลราชวิถีชี้แนะว่า ส่วนมากแล้วโรคแบบนี้มักจะป้องกันได้ด้วยเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง นอกจากงดดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม วิธีการพฤติกรรมบำบัดก็ช่วยได้เหมือนกัน
“สาเหตุที่เราปัสสาวะบ่อยเพราะเรารู้สึกเร็วกว่าคนอื่น กระเพาะปัสสาวะมันบีบเร็วกว่าคนอื่น ความรู้สึกที่เร็วกว่าคนอื่นบางทีเราก็ควบคุมได้ รักษาได้ด้วยการรอนิดหนึ่ง แทนที่เราจะปัสสาวะตอนที่มันกักเก็บได้ร้อยซีซี ก็พยายามยืดไปอีกประมาณ 10 นาที หรือ 20 นาที ไม่ใช่ว่าปวดนิดๆ ก็ไปปัสสาวะแล้ว มันมีส่วนทำให้กระเพาะปัสสาวะเล็กลง และมีความรู้สึกไวขึ้น ทางแก้เบื้องต้นก็คือ ลองรอไปสักห้านาที คือถ้าลองผ่านช่วงเวลาความรู้สึกแรกว่าปวดปัสสาวะตงิดๆ ไปได้ การรู้สึกปวดจะหยุดไป รอไปจนถึงจุดที่ทนไม่ไหวแล้วค่อยไปปัสสาวะ แต่ถ้ามีอาการหนักๆ แล้วควรไปพบแพทย์ทันที”
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/Content