นัดพบแพทย์

ผื่นแพ้ในเด็ก

15 Aug 2016 เปิดอ่าน 1965

ผื่นแพ้ในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง อาการโดยทั่วไปทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดง คันไม่สบายตัว ดูไม่สวยงาม ผู้ปกครองเกิดความกังวล ผื่นแพ้ในเด็กมีหลายชนิดและสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากภายในร่างกายผู้ป่วยเองรวมทั้งปัจจัยภายนอกที่ผู้ป่วยได้รับ ตัวอย่างผื่นแพ้ในเด็กที่พบได้บ่อยได้แก่ 

  1. ผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นผื่นแพ้เรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ปัจจุบันเชื่อว่าโรคน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน กรรมพันธุ์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเช่นมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด โรคแพ้อากาศหรือผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง ปัจจัยอื่นที่ทำให้โรคกำเริบในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ที่พบบ่อยคือ เหงื่อจากอากาศร้อนหรือผิวหนังแห้งจากอากาศหนาว สารระคายเคืองต่างๆที่สัมผัส เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น อาหารบางชนิดเช่น นมวัว ไข่ การติดเชื้อ สารก่อภูมิแพ้ต่างๆในอากาศ เช่น ไรฝุ่น จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผื่นเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีผิวแห้ง มีผื่นขึ้นและคันมาก ลักษณะของผื่นที่พบตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย ในช่วงวัยทารกผื่นจะเป็นตุ่มแดงคันหรือตุ่มน้ำใส มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มได้ ผื่นขึ้นบ่อยบริเวณใบหน้า (ภาพที่1) ด้านนอกของแขนขา ในเด็กโตผื่นจะขึ้นเป็นตุ่มหรือปื้นแดงหนาที่คอ ข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับของแขนและขา ผู้ป่วยจะมีอาการคันมาก ในรายที่เป็นมากผื่นสามารถขึ้นได้ทั่วร่างกาย


 การป้องกันและรักษาโรคทำโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่ทำให้อาการกำเริบเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรสังเกตผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ผื่นกำเริบแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น  นอกจากนี้ต้องทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองดูแลผิวเด็ก ใช้เสื้อผ้าเนื้อนุ่มโปร่งใส่สบาย ควรจะซักล้างผงซักฟอกออกจากเครื่องนุ่งห่มให้สะอาด ไม่รับประทานอาหารที่ทราบแน่ชัดว่าทำให้ผื่นกำเริบ ในทารกที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงควรแนะนำให้ดื่มนมมารดาเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้นมวัว  ถ้าอาการเป็นมากจำเป็นต้องใช้ยาลดการอักเสบที่ผิวหนังควรต้องให้แพทย์ช่วยดูแล อาการของโรคมักเรื้อรังเป็นๆหายๆ และจะดีเมื่อผู้ป่วยโตขึ้น

  1. คราบไขมันตามหนังศีรษะเด็ก หนังศีรษะที่มีคราบไขมันคล้ายรังแคติดอยู่เป็นผื่นแพ้อีกชนิดที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ (ภาพที่ 2) ถ้าเป็นมากอาจมีผื่นแดงบริเวณใบหน้า ซอกคอ รักแร้และในผ้าอ้อมได้ แต่เด็กจะไม่มีอาการคันหรือระคายเคือง ผมไม่ร่วง ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิดผื่นชนิดนี้ขึ้น การดูแลให้ใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันสำหรับทาผิวทารกทาเบาๆ บนคราบไขมัน แล้วหมักทิ้งไว้ 5-10 นาที หลังจากนั้นจึงสระผมให้เด็กด้วยแชมพูสำหรับเด็ก คราบไขมันและผื่นอื่นจะค่อยๆ น้อยลงเมื่อเด็กโตขึ้น
  2. กลากน้ำนม เป็นโรคที่อาจเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของผื่นแพ้ทางผิวหนัง หรือเกี่ยวกับผิวหนังแห้งหลังจากถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน จะเห็นผื่นผิวหนังเป็นวงกลมหรือวงรี สีขาวจางกว่าผิวหนังปกติ อาจมีขุยบางๆ ติดอยู่โดยไม่มีอาการใดๆ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า อาจพบที่ลำคอ ไหล่และแขน ผื่นค่อยๆ หายไปได้เองในเวลาไม่นานแม้ไม่ได้รับการรักษา ควรให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด ใช้สบู่อ่อน ไม่อาบน้ำล้างหน้าบ่อยจนเกินไปเพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งและระคายเคือง กลากน้ำนมนี้แม้จะเป็นโรคเรื้อรังแต่ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด พอเด็กโตขึ้นแล้วโรคนี้ก็จะหายได้เอง
  3. ผื่นผ้าอ้อม หมายถึง ผื่นสัมผัสที่เกิดจากอาการระคายเคืองภายในบริเวณที่เด็กสวมใส่ผ้าอ้อม เกิดจากการใส่ผ้าอ้อมอบผิวหนังไว้เป็นเวลานานทำให้อับร้อน เมื่อมีเหงื่อหรือปัสสาวะออกมาทำให้เปียกชื้น ร่วมกับสารบางชนิดจากปัสสาวะและอุจจาระรวมทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราช่วยกันทำให้เกิดอาการระคายเคืองแล้วก่อให้มีผื่นขึ้น ผิวหนังเด็กจะเป็นตุ่มหรือปื้นแดงเป็นมัน คันและระคายเคืองบริเวณที่นูนสัมผัสกับผ้าอ้อม เช่น ต้นขาด้านใน ก้น เมื่อเริ่มมีอาการน้อยๆ ควรทาขี้ผึ้งหรือครีมเพื่อป้องกันผิวหนังไม่ให้ถูกสารมาระคายเคือง เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ อย่าปล่อยให้เด็กใส่ผ้าอ้อมที่เปียกแฉะอยู่เป็นเวลานานๆ ถ้าผื่นเป็นมากอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษา การป้องกันควรเลือกผ้าอ้อมที่จะใช้กับทารกให้ดี ถ้าใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากผ้าควรซักล้างสิ่งสกปรกออกให้สะอาด ถ้าใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปควรเลือกขนาดให้พอเหมาะกับเด็กไม่คับจนเกินไปและควรเป็นชนิดที่สามารถดูดซับความชื้นได้ดี

เด็กที่มีผื่นคันที่ผิวหนังทุกชนิด ถ้าคันมากควรช่วยลดอาการคัน และรักษาสุขอนามัยส่วนตัวของผู้ป่วยให้สะอาด  ตัดเล็บให้สั้น ตะไบอย่าให้คมเพื่อไม่ทำให้เกิดการเกาจนผิวหนังถลอกแล้วมีการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา ผู้ปกครองควรให้ความระมัดระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวหนังของเด็ก เมื่อผื่นเป็นมากไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานหรือซื้อยาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์เพราะการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้มีผลข้างเคียงอื่นที่เป็นอันตรายตามมาได้

รศ.พญ.วาณี  วิสุทธิ์เสรีวงศ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=602