นัดพบแพทย์

ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ป้องกันถูกตัดขา

28 Aug 2016 เปิดอ่าน 2340

ปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวาน มีแนวโน้มถูกตัดขาเพิ่มขึ้น แต่การผ่าตัดรักษา โดยเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้า จะช่วยผู้ป่วยเบาหวานไม่ต้องถูกตัดขาทิ้งอีกต่อไป

เป็นที่รู้กันว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังการเกิดแผล โดยเฉพาะแผลบริเวณเท้า หากไม่ดูแลให้ดี อาจสูญเสียขาและเสียชีวิตได้ ลักษณะแผลเบาหวาน แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1.แผลเส้นประสาทเสื่อม 2.แผลขาดเลือด และ 3.แผลติดเชื้อ

แผลที่อันตรายและหายยากที่สุด คือ แผลขาดเลือด ซึ่งเป็นผลจากหลอดเลือดแดงในส่วนต่างๆ ของขาอุดตันจากแผ่นไขมัน ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงยังเนื้อเยื่อส่วนปลายไม่เพียงพอ แผลขาดเลือดมักเกิดขึ้นในระยะเริ่มแรกบริเวณนิ้วเท้า ต่อมาจะลุกลามสูงขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะแผลจะแห้ง ก้นแผลมีสีซีด อาจพบนิ้วเท้ามีสีดำจากการเน่าตายร่วมด้วย หากมีการติดเชื้อในแผลขาดเลือดนี้ การอักเสบจะลุกลามอย่างรวดเร็วจนผู้ป่วยต้องถูกตัดขาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการดูแลรักษาแผลขาดเลือดนี้ หากพบว่าการขาดเลือดอยู่ในขั้นรุนแรงหรือขั้นวิกฤต ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงยังเนื้อเยื่อส่วนปลายโดยเร็วที่สุด

การรักษาภาวะขาดเลือดนี้มี 2 วิธี วิธีแรก เป็นการถ่างขยายหลอดเลือดมี่มีการตีบแคบโดยสายสวนลูกโป่ง (balloon angioplasty) และหรือการใช้ลวดค้ำยัน (endovascular stent) วิธีนี้ใช้กับการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่มีขนาดสั้น ส่วนวิธีที่สอง เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือดแดง (arterial bypass surgery) ใช้กับการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่มีขนาดยาว ซึ่งการรักษาทั้งสองวิธี นอกจากแผลขาดเลือดจะมีปริมาณเลือดมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังทำให้แผลหายเร็วขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาทั้งสองวิธีจำเป็นต้องมีหลอดเลือดแดงของขาในส่วนที่อยู่ปลายต่อการอุดตัน อยู่ในสภาพที่ดี การรักษาจึงจะเป็นผลสำเร็จ หากหลอดเลือดแดงของขาสภาพไม่ดีพอ ผู้ป่วยอาจต้องถูกตัดขาทิ้ง

เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตัดขา สาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือดได้คิดค้นนวัตกรรมการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีแผลขาดเลือดขั้นวิกฤต และสภาพหลอดเลือดแดงของขาไม่ดีพอที่จะรักษาโดยวิธีดั้งเดิมได้ หลักการคือ จะใช้หลอดเลือดดำในชั้นลึกบริเวณข้อเท้าเป็นทางนำเลือดจากหลอดเลือดแดงของขาส่วนที่อยู่สูงกว่าการอุดตันไปยังระบบหลอดเลือดดำทั้งหมดของเท้า เสมือนหนึ่งเป็นการเปลี่ยนทางเข้า-ออกของระบบไหล เวียนโลหิตของเท้า ทำให้มีปริมาณเลือด อาหาร และออกซิเจนจำนวนมากมาหล่อเลี้ยงในระบบไหลเวียนโลหิตของเท้าทั้งหมด ช่วยให้แผลหายเร็วและอัตราการเก็บรักษาขาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แต่คงไม่มีผู้ป่วยเบาหวานคนใดอยากถูกผ่าตัดแน่นอน ถ้าเช่นนั้น ควรหมั่นตรวจสอบเท้าอย่างใกล้ชิดทุกวัน ทำความสะอาดเท้าและสวมรองเท้าอย่างถูกต้องตลอดเวลา รวมถึงรับการตรวจสภาพหลอดเลือดแดงของขาเป็นประจำทุกปี และหากมีแผลเกิดขึ้นบริเวณเท้าแม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบให้การประเมินและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่สูญเสียขาครับ

 

ศ.นพ.ประมุข มุทิรางกูร
* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://ascannotdo.wordpress.com