นัดพบแพทย์

ผ่าตัดส่องกล้องทางเลือกใหม่ของการรักษาเส้นเอ็นเข่าขาด

14 Jan 2019 เปิดอ่าน 2874

ปัญหาเกี่ยวกับหัวเข่านับเป็นเรื่องน่าหนักใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

โดยเฉพาะเกี่ยวกับเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior Cruciate Ligament หรือ ACL) ตรงบริเวณจุดกึ่งกลางข้อเข่า ยาวไปตามแนวเฉียงจากด้านหลังของกระดูกต้นขาไปจนถึงกระดูกหน้าแข้ง

เป็นเส้นเอ็นที่คอยทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกหน้าแข้ง

หากเป็นผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารวงการกีฬามักจะพบเห็นข่าวการบาดเจ็บของนักกีฬาเกี่ยวกับเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่านี้ฉีกขาดอยู่เสมอ ขณะเดียวกันสำหรับคนทั่วไป อุบัติเหตุจากการออกกำลังกายหรือการดำเนินชีวิตประจำวันก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นกัน

ในบางรายนั้นขณะเกิดการบาดเจ็บอาจรู้สึกได้ถึงการฉีกขาดอย่างชัดเจน

จากนั้นจะมีอาการปวดบวมบริเวณหัวเข่าในทันที และไม่สามารถลงน้ำหนักตัวได้เหมือนปกติ

หากพบอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

พ.ต.อ.นพ.จิรันธนิน รัตนวารินทร์ชัย แพทย์ประจำศูนย์ทางการแพทย์ คลินิกโรคกล้ามเนื้อ กระดูก โรงพยาบาลพญาไท 3

ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองเบื้องต้นหากพบอาการเส้นเอ็นเข่าขาดว่า

ควรหยุดพักกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อหัวเข่า รวมถึงการประคบและการนั่งยกขาสูง ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

อาการบาดเจ็บจะค่อย ๆ ทุเลาลงภายในระยะเวลา 1 – 2 สัปดาห์

แต่ด้วยเส้นเอ็นดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมต่อกันเองได้ การรักษาเบื้องต้นจึงทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการและลดอาการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อเท่านั้น

แต่หากผู้ป่วยต้องการกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติหรือกลับไปเล่นกีฬาได้เช่นเดิมก็ควรเข้ารับการผ่าตัดจะดีที่สุด

 

ในปัจจุบัน เครือโรงพยาบาลพญาไทได้นำเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องเข้ามาใช้ในการรักษาอาการเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด

โดยใช้การย้ายเนื้อเยื่อเส้นเอ็นจากส่วนอื่น เช่น เส้นเอ็นสะบ้า หรือเส้นเอ็น Hamstrings ไปทดแทนยังตำแหน่งของเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าที่บาดเจ็บ

การรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวยังส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเดิม

เพราะเป็นการผ่าตัดในลักษณะบาดเจ็บน้อย (Minimal invasive surgery)

แต่ให้ผลการรักษาที่ดี ช่วยให้การดูแลหลังผ่าตัดและการทำกายภาพบำบัดสามารถทำได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันบาดแผลที่เกิดจากการผ่าตัดยังมีขนาดเล็กและทิ้งร่องรอยแผลเป็นน้อย

การผ่าตัดส่องกล้องนี้นับเป็นมาตรฐานการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงที่สุดในขณะนี้อีกด้วย

 

พ.ต.อ.นพ. จิรันธนิน รัตนวารินทร์ชัย

jirantanin.com