คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการฉลอง 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เสวนาวิชาการเรื่อง "ผ่าตัดหนังตา (ไม่ใช่เพียง) เพื่อความสวยงาม" เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลือกตา ซึ่งนอกเหนือจากความสวยงามแล้วยังสามารถช่วยเรื่องการมองเห็น ทราบถึงโรคร้ายที่แอบแฝง ส่งผลทำให้หนังตา (เปลือกตา) ตก และสร้างความเข้าใจเรื่องการผ่าตัดหนังตา กระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาเปลือกตามากยิ่งขึ้น
พญ.วรรณกรณ์ พฤกษากร อาจารย์ประจำหน่วยจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยว่าเรื่องของเปลือกตาเป็นเรื่องที่คนไทยยังขาดความรู้เรื่องการดูแล และสนใจเรื่องเปลือกตาค่อนข้างน้อย โดยมากจะมีความเข้าใจว่าการผ่าตัดเปลือกตาเป็นการศัลยกรรมเพื่อความสวยงาม ให้มีบุคลิกที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีคนไข้ที่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลือกตาเพื่อทำการรักษา การที่หนังตาบนตกลงมาคลุมตาดำ ทำให้แสงผ่านเข้าตาไปยังจอรับภาพในตาไม่ได้ เป็นได้ตั้งแต่ตกลงมาเล็ก จนกระทั่งคลุมแก้วตาดำเกือบมิด อาจจะเป็นเพียงตาเดียวหรือสองตาก็ได้
อาการหนังตาตกจะมีปัญหาในการมองเห็นทำให้ไม่เหมาะกับการขับขี่รถยนต์ พาหนะต่างๆ หรือเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต หากหนังตาตกย้อยมากๆ ก็อาจจะทำให้ดวงตาข้างนั้นปิดไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งโรคดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อหย่อนยานตามอายุที่มากขึ้น ปัญหาหนังตาตกถ้าเกิดในเด็กอาจก่อให้เกิดตาขี้เกียจ จากเปลือกตามาปิดการมองเห็น หรือเกิดจากเปลือกตาที่ตกทำให้เกิดปัญหาสายตาผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาระบบการมองเห็นจะไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มที่ ท้ายสุดเกิดเป็นตาขี้เกียจตามมา
โรคเปลือกตาตก สาเหตุแบ่งออกได้คือ หนึ่ง เป็นมาแต่เกิด เนื่องจากกล้ามเนื้อยกหนังตาไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร หรือประสาทที่มาควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อนี้ผิดปกติมาตั้งแต่เกิดอาการผิดปกตินี้อาจจะเป็นแบบกรรมพันธุ์ คือมีประวัติเป็นในพ่อแม่ ที่จะเกิดร่วมด้วยคือ มีกล้ามเนื้อกลอกตาบางมัดทำงานไม่ได้เต็มที่ไปด้วย ผู้ป่วยประเภทนี้จะพบได้ตั้งแต่แรกเกิด มารดาและญาติจะสังเกตดูได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะ ถ้าเป็นข้างเดียว เพราะมีตาอีกข้างให้เปรียบเทียบ ถ้าปล่อยให้เด็กโตขึ้นนอกจากจะสังเกตว่าหนังตาตกแล้ว เด็กจะมีนิสัยเงยหน้าเชิดคางขึ้นเมื่อต้องการใช้สายตา ตอนแรกอาจจะเป็นชั่วคราว แต่ถ้านานเข้ากล้ามเนื้อคอก็จะหดรั้งเด็กอยู่ในลักษณะเชิดหน้าอยู่ตลอดเวลา
สอง หนังตาตกที่มาเกิดขึ้นทีหลัง คือ ผู้ที่เป็นจะมีหนังตาปกติตลอดมา จนกระทั่งมีโรคบางอย่างเกิดขึ้นจึงทำให้หนังตาตกลงมาซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต สาเหตุใหญ่มีดังนี้ เส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อยกหนังตาทำงานผิดปกติ เช่น จากเลือดออกในสมอง เนื่องอกในสมอง อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกะโหลกศีรษะและสมอง ตัวกล้ามเนื้อเองผิดปกติ เช่นถูกตัดขาดจากอุบัติเหตุ โรคของกล้ามเนื้อ โรคของจุดที่ประสาทจะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อ หรือเกิดขึ้น จากการผิดปกติของเปลือกตา เช่น เป็นเนื้องอกที่หนังตา ทำให้หนังตามีน้ำหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อยกเปลือกตาขึ้นไม่ไหว หรือในคนมีอายุ ผิวหนังของเปลือกตาหย่อนห้อยลงมาบวกกับกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงลง ก็ทำให้หนังตาตกได้
"ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขการผิดปกติเช่นนี้ส่วนใหญ่ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งจะสามารถหายเป็นปกติได้ ถ้าหากหนังตาตก เนื่องจากเส้นประสาททำงานไม่ดี หรือตัวกล้ามเนื้อตาถูดตัดขาดบางส่วน ใช้การรักษาทางยา แล้วรอดูผลอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน เพราะบางรายจะกลับคืนดีขึ้นเองได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ต้องผ่าตัดส่วนการที่หนังตาตกอาจเปลือกตาผิดปกติ เช่น เนื้องอก มีทางรักษาทางเดี่ยวคือ การผ่าตัดแก้ไขซึ่งหากได้รับการรักษาที่ถูกวิธีแล้วอาการเปลือกตาตกจะกลับเป็นปกติเอง" พญ.วรรณกรณ์ กล่าว
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=06&news_id=5063