นัดพบแพทย์

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิด ’โรคหัวใจ’ ในคนไทย

14 Jan 2017 เปิดอ่าน 1725

โรคหัวใจ เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดในลำดับต้น ๆ สาเหตุสำคัญก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย การหาแนวทางป้องกันและกระบวนการรักษาจึงมีความสำคัญมาก เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยโรคหัวใจหายขาดและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

ปัญหาโรคหัวใจในปัจจุบันมีหลากหลายแบบ เช่น หัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หัวใจอุดตัน หัวใจล้มเหลว ระบบไฟฟ้าในหัวใจเต้นผิดปกติ แต่โรคหัวใจที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตได้มาก จะเป็นกรณีหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดอุดตัน ที่มักจะพบอยู่เป็นประจำในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

เมื่อพบว่าเป็นหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดอุดตัน ก็มักจะมีอาการตามมาด้วยโรคหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเพราะหัวใจขาดเลือด และส่งผลให้ระบบไฟฟ้าในหัวใจรวนได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 6 คนต่อหนึ่งชั่วโมง ซึ่งอาจมีตัวเลขที่มากขึ้นได้หากพิจารณาตามขนาดของจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

รูปแบบพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1) กรรมพันธุ์ ที่จะส่งผ่านมาจากทางบิดา มารดา ที่เป็นโรคหัวใจ จะส่งผลให้มีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่าปกติ

2) พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวเอง เช่น เป็นไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน แต่ไม่ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งการกิน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้สามารถเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

สำหรับคำแนะนำ ในผู้สูงอายุ ต้องอธิบายว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุแล้ว แต่ได้สั่งสมมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ เปรียบเสมือน ท่อนํ้าที่สะสมสิ่งต่าง ๆ จนท่อสกปรก ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสะสมเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ปี แต่ใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงจะพบปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้

ดังนั้น จึงไม่ควรประมาทในการดูแลตัวเองตั้งแต่ยังวัยรุ่นและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาทิ หนังสัตว์ หมูสามชั้น ของทอด หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอยู่เสมอ

หลายคนอาจคิดว่า ออกกำลังกายทุกวันสุขภาพจะแข็งแรง ไม่น่าจะเป็นโรคอะไร แต่การที่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ ตรวจวัดไขมันในเลือดว่าสูงหรือไม่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นหรือไม่ บางคนคิดว่าร่างกายผอม ไม่คิดว่าจะเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคนที่มีรูปร่างผอม บางทีอาจจะสูบบุหรี่จัด หรือมีกรรมพันธุ์ที่แย่มากก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้ ไม่ต่างจากคนที่มีรูปร่างอ้วนและนํ้าหนักเกินกว่าปกติ

สิ่งสำคัญเน้นยํ้าอีกทีว่า ไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิตทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การขจัดความเครียดที่เกิดจากการทำงาน เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจช่วยให้คุณหลุดพ้นจากการมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้นั่นเอง.

ผศ.นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล