นัดพบแพทย์

ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์

23 Jan 2017 เปิดอ่าน 1715

 โรคความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องดูแลรักษากันยาวนาน
       
       ด้วยความที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ โรคของต่อมไทรอยด์ มีหลายชนิด เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ และ โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ สำหรับโรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์นี้สามารถป้องกันได้หรือไม่ เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
       ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมการเผาผลาญพลังงาน กระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการในวัยเด็ก

ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือ ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะไฮโปไทรอยด์ดิซึม” นั้น คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้าง หรือหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เองที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้เพียงพอ เช่น ภายหลังการตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน หรือ ตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด และภายหลังการได้รับไอโอดีนรังสีเพื่อรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ นอกจากนี้ ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง ที่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่มากระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
       
       ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ จะมีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยชา หลงลืมง่าย ขี้หนาว ท้องผูก ผิวแห้ง เสียงแหบ น้ำหนักตัวเพิ่มมากผิดปกติ และในเพศหญิงอาจมีประจำเดือนมาผิดปกติได้
       

   การรักษาภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ คือ การรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนในขนาดที่เหมาะสม โดยติดตามอาการและตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง ถ้าสาเหตุการขาดฮอร์โมนไทรอยด์นั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ภายหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดชีวิต และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
       
       แม้ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ จะไม่ใช่โรครุนแรง แต่จำเป็นต้องได้รับการดูแล และรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนในขนาดที่พอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ เพราะการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ในช่วงเวลาสั้น อาการของการขาดฮอร์โมนไทรอยด์อาจไม่ชัดเจน แต่ถ้าขาดฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำมาก ซึ่งนอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยจะมีระดับความรู้สึกตัวลดลง เรียกไม่รู้สึกตัว อุณหภูมิร่างกายลดลง ความดันโลหิตต่ำลง หายใจช้าลง ส่งผลให้หยุดหายใจและมีโอกาสเสียชีวิตได้

โดย : อ.พญ.ระวีวรรณ เลิศวัฒนารักษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์

ขอบคุณบทความจาก : http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9550000118016