นัดพบแพทย์

ภาวะเท้าแบน

23 Dec 2016 เปิดอ่าน 1967

มีใครเคยถูกทักว่าเท้าแบนหรือไม่ ?

หรือลูกของเรามีคนทักว่าเท้าแบนจังเลย!

มาทำความรู้จักภาวะเท้าแบนกันดีกว่านะครับ………..

  

ภาวะเท้าแบนคือภาวะที่มองไม่เห็นอุ้งเท้าซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ว่าเรามีภาวะเท้าแบนได้ด้วยตัวเองหรือไม่? โดยสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกันดังนี้:-

              1.โดยการยืนลงน้ำหนักจากนั้นมองข้างเท้าด้านในด้วยกระจกหรือให้คนอื่นช่วยสังเกตจะเห็นว่าคนที่มีภาวะเท้าแบนจะไม่มีอุ้งเท้า

              2.ใช้เท้าจุ่มน้ำหรือสีจากนั้นปั้มเท้ากับกระดาษแห้งหรือผ้าแห้งให้เกิดรอยเท้าขึ้น หากมองเห็นส่วนเว้าเป็นรูปเท้าจะถือว่าไม่ได้มีภาวะเท้าแบนดังในภาพขวามือสุดด้านล่างครับ

   

ภาวะเท้าแบนเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กส่วนมากรูปเท้าที่แบนมักจะดีขึ้นเรื่อยๆ ได้เองเมื่ออายุมากขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมครับ

 

 ภาวะเท้าแบนสาเหตุเกิดมาจากมีความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อในเท้าและข้อเท้าผิดปกติ อาจเกิดจาก         โรคประจำตัวเดิมของผู้ป่วย หรือเกิดจากกระดูกที่ไม่ปกติ หรือเกิดจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อในเท้าและ    ข้อเท้าเมื่อมีอายุมากขึ้น หรือมีโรคอื่นที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะอาการภาวะเท้าแบนส่วนมากไม่มีอาการอะไร แต่ในบางท่านอาจจะปวดเมื่อยในเท้าหรือน่อง หากมีการใช้งานนานๆ บางท่านจะมีอาการปวดมาก อาจยืนเขย่งเท้าไม่ได้ หรืออาจกระดกข้อเท้าไม่ไหว   ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะพบร่วมพร้อมกับโรคเท้าอื่นๆ 

การรักษา

 

                หากไม่มีอาการปวดหรืออาการขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวันก็ไม่ต้องให้การรักษา การรักษาอย่างจริงจังควรทำเมื่อมีอาการปวดหรือรบกวนการใช้เท้าในชีวิตประจำวันโดยให้พบศัลยแพทย์กระดูกและข้อ หรือมีวิธีการรักษาดังนี้:-

               1.การฝึกเพิ่มความยืดหยุ่นเอ็นรอบข้อเท้าเพื่อป้องการการเกิดอาการปวด หรือล้า  

  

           การยืดเอ็นร้อยหวายที่ขาซ้าย โดยมือค้ำผนังไว้ขาซ้ายเหยียดตึงไม่ยกส้นเท้าจากพื้นตามรูปที่แสดง จากนั้นย่อตัวลงค้างไว้ 10-20วินาที วันละ 10-20 รอบ หรือค่อยๆ ปรับจำนวนรอบขึ้นทุกวัน

 

                อีกหนึ่งวิธีคือยืนบนขอบบันไดให้ส้นเท้าข้างที่ต้องการ    ยืดเอ็นพ้นบันไดออกมาค่อยๆ ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปค้างใน    ท่านี้ 10 – 20 วินาที วันละ 10 – 20 รอบต่อวัน อีกหนึ่งท่า       ที่แนะนำคือคือการนั่งยองๆ ค้างไว้ 10 – 20 วินาที วันละ   10 – 20 รอบต่อวัน ในท่าเท้าชิดกันส้นเท้าไม่ยกจากพื้น 

                2.การกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการในวันที่มีอาการปวด

                3.การพบแพทย์ตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวด หรือผิดปกติในการใช้งาน

                4.การใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้า หรือเท้าเพื่อปรับรูปเท้าขณะที่สวมอุปกรณ์จะทำให้อาการเบาลง

  

                5.การผ่าตัดแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด หรือปัญหา 

                    ผู้ที่มีภาวะเท้าแบนบางท่านไม่แน่ใจว่าตนเองนั้นจำเป็นจะต้องใส่รองเท้าที่สั่งตัดพิเศษหรือไม่ อย่างไร? ซึ่งท่านอาจจะเกิดความวิตกกังวล ผมขอให้สบายใจได้เลยว่า ทุกท่านไม่จำเป็นจะต้องใส่รองเท้า   สั่งตัดพิเศษครับ เพราะรองเท้าที่สั่งตัดพิเศษไม่สามารถที่จะแก้ไขรูปเท้าได้ถาวรตลอดไป แต่จะแก้ได้เฉพาะในขณะที่สวมใส่รองเท้าเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีอาการปวดในเท้า เมื่อยน่อง หรือรู้สึกผิดปกติก็มีทางแก้ไขได้ด้วยการสวมอุปกรณ์เสริม หรือรองเท้า เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อยล้าได้ครับ 

วิธีป้องกัน

                 หากเมื่อท่านมีภาวะเท้าแบนแล้ว ท่านสามารถปกป้องไม่ให้เกิดอาการปวดได้โดยการฝึกยืดเหยียดเอ็นร้อยหวายให้เกิดความยืดหยุ่นสูงๆ เพื่อเป็นการป้องกันอาการปวดเมื่อยที่อาจจะตามมาจากภาวะเท้าแบนแบบแข็งครับ

                ภาวะเท้าแบนส่วนมากไม่ถือเป็นโรค  เพราะฉะนั้นผมขอแนะนำว่าไม่จำเป็นที่จะต้องให้การรักษา    ทุกคนนะครับ ส่วนมากจะให้การรักษาพยาบาลเฉพาะผู้ที่เกิดปัญหาร่วมกับการมีภาวะเท้าแบน ซึ่งก่อนที่จะให้การรักษาพยาบาล  ศัลยแพทย์กระดูกและข้อจะต้องตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการก่อนเสมอ หรือทาง ที่ดีถ้าท่านไม่แน่ใจว่าท่านจะเป็นภาวะเท้าแบนหรือไม่ เกิดความไม่สบายใจ ท่านสามารถมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาหาทางแก้ไขข้อข้องใจได้นะครับ ที่ฝ่ายศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย 

 

นายแพทย์ปุณยธร  พัฒนธิติกานต์

ขอบคุณบทความจาก : http://www.somdej.or.th/index.php/2016-06-17-06-47-50