นัดพบแพทย์

มะเร็งตับ โรคอันดับ 1 มะเร็งชายไทย

06 Dec 2016 เปิดอ่าน 1676

มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่รุนแรงชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย และเป็นการตายอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้ชายไทย โดยจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โรคมะเร็งตับที่พบมากมี 2 ชนิด คือโรคมะเร็งของเซลล์ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี โรคมะเร็งท่อน้ำดีจะพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งตับนั้นเกิดจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบปีร้อยละ 50-55 และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร้อยละ 25-30 โดยผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงมากกว่าคนที่ไม่เป็นพาหะถึง 100-400 เท่า

นอกจากนี้ยังมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับถึง 1.5 เท่าถึง 7.3เท่า ยิ่งมีการดื่มประจำทุกวันแล้ว โอกาสที่จะเป็นมะเร็งตับก็จะยิ่งมากขึ้นเช่นกัน และถึงแม้ว่าจะหยุดดื่มแล้วก็ตาม โอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งตับก็จะไม่ลดลง

ที่สำคัญโรคมะเร็งตับยังเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีเชื้อราบางชนิด เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้จะมีสารอัลฟลาท็อกซินที่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับปะปนอยู่

ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จะมีสาเหตุมาจากการมีพยาธิใบไม้ในตับ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่มาจากพฤติกรรมการกินอาหารดิบ ๆ ซึ่งทำให้ประชากรมีพยาธิใบไม้ในตับมาก จึงมีการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีสูงกว่าภาคอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีตับจะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการรุนแรงมากแล้ว โดยอาการของโรคจะมีลักษณะคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องที่ชายโครงขวา และอาจจะปวดร้าวไปที่ไหล่หรือหลัง ส่วนใหญ่จะมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีอาการคัน ตัวเหลือง ตาเหลืองซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำดี นั่นเอง

การตรวจวินิจฉัยโรค

ในการตรวจวินิจฉัยโรคนั้น แพทย์จะทำการตรวจตับโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก รวมถึงการตรวจโดยการส่องกล้องและฉีดสีดูท่อน้ำดี และเอาชิ้นเนื้อจากทอน้ำดีมาตรวจอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคมเร็งตับได้ด้วยการ การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ ชนิดปีในเด็กแรกเกิดทุกคน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ดิบ หรือ ดิบ ๆ สุก ๆ งดอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ซึ่งได้แก่ อาหารที่มีราขึ้น และควรงดดื่มสุราและงดสูบบุหรี่ ที่สำคัญควรตรวจคัดกรองมะเร็งตับอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือนทั้งนี้ก็เพื่อสามารถรักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะต้น นั่นเอง

แนวทางการรักษา

การรักษาโรคมะเร็งตับนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1. การรักษาเพื่อหวังผลหายขาด ซึ่งได้แก่ การรักษาด้วยการทำการผ่าตัดหรือการเปลี่ยนตับใหม่ แต่จะมีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดรักษา ส่วนวิธีในการรักษาแบบที่ 2 คือการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาเพื่อช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาวออกไป ซึ่งได้แก่ การสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงก้อนมะเร็งร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด หรือการฉีด ethanol หรือ acetic acid เข้าไปที่ก้อนมะเร็งรวมถึงวิธีการใช้ความร้อนทำลายก้อนมะเร็ง

ดูเหมือนว่าเรื่องของอุปนิสัยการกิน จะเป็นตัวกำหนดที่จะทำให้เรามีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ดังนั้นเราควรจะรู้จักบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง กับอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ เราควรจะหลีกเลี่ยงการบริโภค ก็จะเป็นการดีที่สุด และไม่ควรละเลยกับการออกกำลังกายเป็นอันขาด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ร่างกายของเรามีภูมิต้านทานที่จะสู้กับโรคร้าย ๆ ที่จะตามมาได้นั่นเอง

 

ผศ.นพ.ชัยยุทธ เจริญธรรม
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://e-shann.com/?p=7234