นัดพบแพทย์

มะเร็งเต้านม…เรื่องควรรู้ของผู้หญิง

22 May 2017 เปิดอ่าน 2451

คำว่า “มะเร็งเต้านม” จะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอีกต่อไป หากดูแลเอาใจใส่ตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกโอกาสที่จะสามารถรักษาหายขาดจะยิ่งมีมากขึ้น 
 
มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นมะเร็งเต้านมที่ต่อมน้ำนม ซึ่งมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงไม่มีวัคซีนป้องกันแต่ สิ่งสำคัญของมะเร็งเต้านม คือปัจจัยเสี่ยงซึ่งทำให้เกิดโรคดังนี้  

• อายุ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น เซลล์ของท่อน้ำนมในผู้สูงอายุจะแบ่งตัวผิดปกติได้มากขึ้นกว่าคนอายุน้อย ดังนั้นอายุมากขึ้นโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมจะมากขึ้น      
• การตั้งครรภ์,ให้นมบุตร คนที่ไม่เคยตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม   มากกว่าคนที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร  เนื่องจากเซลล์เต้านมจะเจริญเติบโตสูงสุดต้องมีการสร้างน้ำนมออกมาและหากไม่เคยมีการสร้างน้ำนมขึ้นจะเกิดการแบ่งตัวผิดปกได้ง่าย ผู้หญิงที่มีบุตรและให้นมบุตรมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์และให้นมบุตร
• ยาคุมกำเนิด  ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ถ้ากินติดต่อกันเกิน 5 ปี  มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานเหมาะในการคุมกำเนิดระยะสั้นไม่เหมาะในระยะยาว        
• พันธุกรรมบุคคลที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมจะมีโอกาสเสี่ยงประมาณ 10 %       
 
ลักษณะอาการของโรค
     อาการที่พบได้บ่อยคือมีก้อนบริเวณเต้านมซึ่งโดยปกติจะไม่มีอาการเจ็บ  ซึ่งหากมีอาการเจ็บจะแสดงได้ว่าก้อนมีขนาดใหญ่และมาที่ผิวหนังแล้ว ส่วนอาการอื่นๆเช่นมีอาการเลือดออกที่หัวนมนั้นร้อยละ 90 จะไม่ใช่มะเร็งแต่เป็นเนื้องอกในท่อน้ำนม จะมีเพียง 10 เปอร์เซ็นที่เป็นมะเร็ง โรคมะเร็งเต้านมไม่มีสัญญาณเตือนให้ระวัง และหากมีอาการนั่นแสดงว่าเป็นมากแล้ว ซึ่งสิ่งที่พึงระวังเกี่ยวกับอาการคือ หากมีอาการเจ็บมักไม่ค่อยเป็น แต่ไม่มีอาการมักจะเป็น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่การดูแลตนเองเพื่อการตรวจให้พบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก 
 
การตรวจมะเร็งเต้านม 
การตรวจพบและรักษามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะมีโอกาสรักษาหายขาดได้ ซึ่งการตรวจควรทำดังนี้ 
- ผู้ที่อายุเกิน 20 ปี ควรคลำเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง หลังหมดประจำเดือน 7 วัน โดยการตรวจนั้นไม่ต้องกังวลรูปแบบในการตรวจเน้นเพียงว่าคลำและพบก้อนหรือไม่ เพราะการตรวจด้วยตนเองจะสังเกตุได้ง่ายหากเกิดความผิดปกติ และตรวจโดยแพทย์ทุก 3 ปี     
- ผู้ที่อายุ 35  ปีขึ้นไปควรตรวจแมมโมแกรม (Digital mammogram)และอัลตร้าซาวด(Ultrasound) อย่างน้อย 1 ครั้ง 
- ผู้ที่อายุน้อยกว่า 35  ปีสามารถตรวจเฉพาะอัลตร้าซาวด์(Ultrasound) เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 1 ครั้ง
- ผู้ที่อายุเกิน 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม (Digital mammogram)และอัลตร้าซาวด์(Ultrasound)  ปีละครั้ง 
 
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม แพทย์จะไม่สรุปผลจากการตรวจโดยแพทย์หรือแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เท่านั้น ต้องซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย พร้อมทั้งเจาะนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดอีกครั้ง จึงสามารถสรุปได้ กรณีพบมะเร็งสามารถรักษาได้ 5 วิธี คือ การผ่าตัด,การใช้เคมีบำบัด,การฉายแสง,การใช้ยาต้านฮอร์โมนและการรักษาแบบพุ่งเป้า (Target Theraphy ) ซึ่งระยะของโรคนั้นสามารถระบุได้ภายหลังการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดแนวทางการรักษาต่อไป 
 
การป้องกัน 
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุจึงยังไม่สามารถหาวิธีป้องกันได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการตรวจเต้านมด้วยตนเองและป้องกันจากปัจจัยเสี่ยง ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น เช่น ให้นมบุตรน้อยลง และมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งผู้หญิงควรมีบุตรคนแรกไม่เกินอายุ 30 ปี และนอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้คือการมีประจำเดือนเร็ว หรือหมดช้า และการรับประทานฮอร์โมนทดแทนเกิน 5 ปี 
ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ในการดูแลตนเองนอกเหนือจากดูแลเรื่องปัจจัยเสี่ยงแล้วนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ความคุมไขมัน และปรึกษาสูตินรีแพทย์ในการคุมกำเนิด มะเร็งเต้านมรักษาได้ หากตรวจพบในระยะแรก  
 
นพ.โกมล ปรีชาสนองกิจ
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม
ศูนย์รักษ์เต้านม รพ.พญาไท 2
 
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://inter.phyathai.com/medicalarticledetail/1/11/156/th