นัดพบแพทย์

มาดูแลกระดูกกันเถอะ

14 Apr 2017 เปิดอ่าน 2198

กระดูก เปรียบเสมือนเฟรมเวิร์คหรือโครงสร้างของร่างกาย ที่ประกอบไปด้วยข้อต่อซึ่งทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหว และกล้ามเนื้อทำหน้าที่ช่วยยึดโครงสร้างของกระดูกและข้อ กล้ามเนื้อจะยึดเกาะทั้งเหนือข้อและต่ำกว่าข้อ ทุกจุดที่มีกระดูกในร่างกาย เมื่อกล้ามเนื้อหดตัว ข้อก็ขยับ ทำให้ร่างกายของเราเคลื่อนไหวได้ เป็นโครงสร้างที่สอดคล้องกันไป เพราะฉะนั้น หน้าที่หลักของกระดูก คือการค้ำจุนโครงสร้างของร่างกายให้ทรงรูปร่างอยู่ได้ ถ้าไม่มีกระดูกร่างกายของเราคงจะไปกองอยู่กับพื้น นอกจากนี้แล้วกระดูกยังมีหน้าที่ในการสะสมแร่ธาตุ แคลเซียม และเป็นตัวสร้างเซลล์เม็ดเลือดให้กับร่างกาย

การเจริญเติบโตของกระดูกเริ่มตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุประมาณ 17-18 ปี กระดูกจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่อถูกเชื่อมยึดติดกันโดยแคลเซียม ในวัยเด็กกระดูกยังอ่อน สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งความยาวและความกว้าง ในด้านความยาว จะมีจุดของการสร้างเซลล์ให้กระดูกยาวขึ้น ที่เรียกว่า Growth plate อยู่บริเวณใกล้ๆ ข้อ หากเราลองเอกซเรย์กระดูกของเด็ก จะเห็นเป็นช่องว่างดำๆ ซึ่งรอยนี้ไม่ใช่รอยกระดูกหัก  แต่เป็นรอยกระดูกอ่อนที่ยังสามารถเจริญเติบโตได้อีก เนื่องจากไม่มีแคลเซียมมาเกาะ

ส่วนเยื่อหุ้มกระดูกจะสร้างความกว้างหรือความหนาให้กับกระดูก เด็กจะสูงหรือไม่สูงก็อยู่ที่ว่าแคลเซียมจะไปเกาะ Growth plate ให้ยึดติดเร็วแค่ไหน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรเลี้ยงลูกให้อ้วนเกินไป

เมื่อกระดูกโตขึ้น จนหยุดโต และถูกใช้งานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อถึงวันนึงก็ต้องเสื่อม อย่าลืมว่าตลอดชีวิตของคนเราใช้งานกระดูกอยู่ตลอดเวลา เคลื่อนไหวร่างกายเมื่อไหร่ก็เท่ากับเราใช้งานกระดูกเมื่อนั้น แม้ในยามหลับเรายังต้องใช้งานกระดูกในการขยับร่างกายเพื่อพลิกเปลี่ยนท่านอน เลย เมื่อการใช้ถูกสะสมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเสริมเติมเข้าไปบ้าง ก็จะยิ่งเสื่อมเร็ว การใช้งานกระดูกไม่ได้หมายถึงการเคลื่อนไหว หรือการทำงานเท่านั้น แต่ความอ้วนก็เป็นตัวการที่ใช้งานกระดูกได้อย่างหนักหนาสาหัสเหมือนกัน เพราะคนอ้วน เวลาเดิน กระดูกจะต้องแบกรับน้ำหนักมาก โดนกระแทกกระทั้นมากกว่าคนผอม ยิ่งการขึ้น-ลงบันได้ด้วยแล้ว ในคนน้ำหนักมากจะยิ่งทำร้ายข้อเข่าได้มาก เพราะกระดูกต้องรับน้ำหนักทีละขาขณะที่เข่างอ เมื่อเข่างอจะมีการเพิ่มความดันในข้อเข่า เมื่อเพิ่มความดันในข้อเข่า ก็มีการทำลายกระดูกและกระดูกอ่อนในข้อต่อมากขึ้น ทำให้การเสื่อมเร็วมากขึ้น

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%B0/