นัดพบแพทย์

มาทำความรู้จักกับ orthokeratology

07 Sep 2016 เปิดอ่าน 1817

Orthokeratology

เป็นวิธีการแก้ไขสายตาสั้นหรือสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียงแบบชั่วคราว โดยใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (rigid gas permeable contact lens) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้กระจกตาของผู้ใส่มีการเปลี่ยนรูป เกิดการแบนลงของกระจกตาส่วนกลางและนูนขึ้นบริเวณกระจกตาส่วนริม ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงความหนาของเซลล์ชั้นผิวกระจกตา (corneal epithelium) ดังนั้นเมื่อถอดคอนแทคเลนส์ออกสายตาสั้นจึงลดลง การมองเห็นดีขึ้นและจะคงอยู่ไปจนกระทั่งเซลล์ชั้นผิวกระจกตาเคลื่อนที่กลับมาสู่ตำแหน่งปกติหรือมีการสร้างเซลล์ใหม่

ในปัจจุบัน orthokeratology เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขสายตาสั้น นิยมใช้ในผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มากโดยสามารถแก้ไขสายตาได้ถึง 6.00 ไดออปเตอร์ และแก้ไขสายตาเอียงได้ถึง 1.75 ไดออปเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ทำการแก้ไขสายตาสั้นด้วยวิธีนี้มีการเพิ่มขึ้นของค่าสายตาสั้นน้อยกว่าผู้ที่แก้ไขสายตาสั้นด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแว่นหรือคอนแทคเลนส์แบบนิ่ม เนื่องจากมีการยืดของลูกตาน้อยกว่า

คอนแทคเลนส์ที่ใช้ในการรักษาวิธีนี้หรือที่เรียกว่า reverse geometry lens จำเป็นต้องผลิตจากวัสดุพิเศษซึ่งมีความสามารถในการส่งผ่านออกซิเจนได้สูงกว่าคอนแทคเลนส์ทั่วไป เนื่องจากผู้ใช้ต้องทำการสวมใส่ในขณะหลับซึ่งเป็นช่วงที่กระจกตาไม่สามารถรับออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง โดยใช้ระยะเวลาในการใส่ประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ในปัจจุบัน reverse geometry lens ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา มี 2 ระบบ คือ Vision Shape Therapy (VST) system หรือ OK lens และ Corneal Refractive Therapy (CRT) system อย่างไรก็ตามเลนส์ทั้งสองระบบยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศไทย

ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนี้จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกเลนส์ การใส่ ตลอดจนการดูแลรักษา โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีเพียงผู้ที่ผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาติเท่านั้นที่สามารถสั่งเลนส์ชนิดนี้ได้ การใส่คอนแทคเลนส์ขนาดที่ไม่พอเหมาะกับดวงตาหรือการดูแลคอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระจกตาติดเชื้อได้ จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนี้มีอัตราการเกิดโรคกระจกตาติดเชื้อประมาณ 7.7 ราย ต่อผู้ใส่ 10,000 รายต่อปี ในขณะที่การใส่คอนแทคเลนส์แบบนิ่มมีอัตราการเกิดโรคเพียง 4.1 ราย ต่อผู้ใส่ 10,000 รายต่อปี ดังนั้นหากผู้ใช้มีอาการผิดปกติทางตา เช่น ตาแดง ปวดตา แพ้แสง มีขี้ตา หรือตาพร่ามัวลง ควรงดการใส่คอนแทคเลนส์และไปพบจักษุแพทย์โดยเร็ว

โดย อ.พญ.วรรณรัตน์ สาธิตพิฐกุล
ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/AllAboutEyebyRCOPT/posts/663597093757533