“มะเร็งต่อมลูกหมากพบมาก เป็นแล้วมักจะเสียชีวิตทุกราย บางรายอาจเสียชีวิตด้วยโรคของมันเอง บางรายอาจเสียชีวิตเพราะหัวใจวาย ซึ่งในสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประเทศไทย" ผ.ศ.นพ.สิทธิพร ศรีนวลนัด OSK101? แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าว
วงการแพทย์ทางด้านศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตั้งข้อสันนิษฐาน โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจมีสาเหตุมาจากติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลต่อต่อมลูกหมากอักเสบ และหากไม่ได้รับการเข้าตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากย่อมมีสูง
จากสถิติที่โรงพยาบาลศิริราชติดตามอุบัติการณ์ของโรคพบว่า โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคที่ชายไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปอด แต่ละปีมีชายไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 500 รายต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไข้ใหม่รองจากโรคมะเร็งปอด ซึ่งพบมากในผู้ป่วยชายสูงอายุ ตามสถิติพบได้ประมาณ 45% ในช่วงอายุ 50-60 ปี และประมาณ 90% เมื่ออายุกว่า 80 ปี
ขณะนี้ในแวดวงการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะใช่หรือไม่ใช่ ก็เป็นเพียงข้อสมมติฐาน และหากติดเชื้อมาจากการใช้บริการเพศสัมพันธ์ โอกาสที่ต่อมลูกหมากจะอักเสบก็มีส่วนเป็นไปได้
อย่างไรก็ดี การที่คนไข้เข้ามาตรวจเลือดที่โรงพยาบาล และตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบว่าต่อมลูกหมากอักเสบ สามารถจะรักษาได้ ปัจจุบัน มีวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้กล้องไม่ต้องผ่าตัด
สำหรับการตรวจเบื้องต้นในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปที่ทวารหนัก เพื่อตรวจหาเนื้อตะปุ่ม เนื่องจากการเกิดเซลล์ผิดปกติ "มะเร็งในต่อมลูกหมาก ในระยะแรกไม่มีอาการ คนไข้ไม่รู้ตัว แต่อาจจะปัสสาวะบ่อย อสุจิมีเลือดปนออกมา ซึ่งหากพบมีเนื้อตะปุ่ม หรืออสุจิมีเลือดปน ต้องรีบไปพบแพทย์ " ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย
อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเซลล์มะเร็งในต่อมลูกหมากด้วยการสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนักอย่างเดียวคงไม่ได้อะไร วิธีที่แน่นอนที่สุด คือ นำชิ้นส่วนเนื้อจากต่อมลูกหมากไปตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็ง
โรคต่อมลูกหมากโตเป็นความผิดปกติที่มีความเจริญเริ่มทั้งขนาดและจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากมากกว่าปกติทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากนั้นอยู่รอบๆ ท่อปัสสาวะไหลไม่สะดวก ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคต่อมลูกหมากโตยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับอายุ และเกิดการไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงในเลือดเมื่ออายุมากขึ้น โดยฮอร์โมนเพศชายมักจะมีระดับลดลงในชายสูงอายุ
อาการของต่อมลูกหมากโตทำให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวข้องกับการถ่ายปัสสาวะ คือ ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะไม่สุด, บางครั้งรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งปัสสาวะไม่ออก
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเบื้องต้น แพทย์แนะนำว่า พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งหากต่อมลูกหมากอักเสบ อาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะยาว ผู้ที่มีอาการต่อมลูกหมากอักเสบ จำเป็นต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอ โดยเฉพาะหากเครือญาติมีประวัติเป็นผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก อาหารที่สามารถป้องกันการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากคือ มะเขือเทศ
ผ.ศ.นพ.สิทธิพร ศรีนวลนัด
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1435