นัดพบแพทย์

ลูกข้ออักเสบเพราะภูมิแพ้ตนเอง

25 Sep 2016 เปิดอ่าน 2072

การที่ลูกน้อยเคลื่อนไหวไม่ปกติ เช่น เดินกะเผลก งอข้อมือไม่ได้ หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด อาจเป็นสัญญาณว่าลูกรู้สึกเจ็บปวด โดยเฉพาะตามข้อต่อต่างๆ เช่น เข่า ข้อมือ ข้อนิ้ว ซึ่งอาการเหล่านี้หายขาดได้ไม่ยากถ้ามีสาเหตุจากการออกแรงมากจนเส้นเอ็นฉีกขาดหรือมีการติดเชื้อ แต่ถ้าอาการเกิดเรื้อรัง แสดงว่าลูกอาจเป็นโรคข้ออักเสบชนิดแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตหรือทำให้พิการได้

โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
ดูจากชื่อก็ค่อนข้างชัดเจนว่าโรคนี้หาสาเหตุไม่เจอ รู้เพียงว่าเกิดจากการที่ภูมิต้านทานทำร้ายตัวเอง ซึ่งเด็กที่เป็นจะมียีนผิดปกติอยู่แล้ว พอมีตัวกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ ร่างกายจึงสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อโรค แต่ด้วยการสั่งการของยีนที่ผิดปกติ ภูมิต้านทานกลับหันมาทำร้ายอวัยวะของตัวเองด้วย
ในกรณีนี้ก็คือข้อ ทำให้ข้ออักเสบ เกิดความรู้สึกเจ็บปวดทรมานจนเคลื่อนไหวลำบาก โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็น เช่น ตอนเช้า นานเข้าข้อก็ติด งอข้อไม่ได้ และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ถ้าทิ้งไว้นานไม่รีบรักษาอย่างถูกต้องสุดท้ายเด็กอาจเสียชีวิตหรือพิการถาวร เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตไปตลอด ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกรักอย่างแน่นอน

ในบรรดาโรคแพ้ภูมิตัวเองในเด็ก โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุถือว่าพบบ่อยที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นกับใครก็ได้นะคะ ต้องมี 2 ปัจจัยประกอบกัน คือมียีนผิดปกติ และมีตัวกระตุ้น ซึ่งก็บอกยากว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยง ทางที่ดีที่สุดคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้ เพื่อให้รู้วิธีสังเกตอาการ และจะได้รีบพาลูกไปรับการรักษาทันท่วงที ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดโอกาสพิการให้กับลูกน้อยได้

กลุ่มโรคข้ออักเสบที่สำคัญ
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กมีอยู่ 7 กลุ่มด้วยกัน แต่ในที่นี้ขอยกมาเพียง 3 กลุ่ม โดย 2 กลุ่มแรกพบมากในประเทศไทย และกลุ่มที่ 3 มักเกิดกับเด็กเล็กค่ะ


 

  • Systemic onset juvenile idiopathic arthritis (SoJIA) เป็นชนิดที่มีโอกาสหายมากที่สุด คือ 40-50% แต่รุนแรงมากที่สุด เพราะมีอาการในหลายระบบของร่างกาย ทำให้เสี่ยงเสียชีวิต เด็กที่เป็นจะมีไข้ลูงกว่า 2 สัปดาห์ มีผื่น ปวดข้อ ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • Enthesitis related arthritis (ERA) มีโอกาสหายประมาณ 30% และเป็นชนิดที่ทำให้เจ็บปวดมากที่สุด เพราะมีอาการอักเสบบริเวณที่เส้นเอ็นไปเกาะกับกระดูก เช่น ส้นเท้า ฝ่าเท้า กระดูกสะบ้า ข้อต่อของกระดูกสันหลังที่เอว เด็กหลายคนเจ็บจนเดินไม่ได้
  • Oligoarticular JIA หรือ pauciarticular JIA เป็นชนิดที่มีอาการอักเสบน้อยกว่า 5 ข้อ ส่วนมากจะเป็นที่ข้อเข่า โอกาสหายยังไม่แน่ชัด มักเกิดกับเด็กเล็ก และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตาอักเสบได้


อาการเมื่อภูมิทำร้ายข้อ
อาการข้ออักเสบจากการแพ้ภูมิตัวเองสามารถเกิดได้กับข้อทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกต้นคอ และขากรรไกร ซึ่งสามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ

ข้อติดในช่วงเช้า หรือที่เรียกว่า “Morning Stiffness” บางทีอาจเกิดในช่วงที่อากาศเย็นๆ ทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก อาการที่สังเกตได้ก็คือ เด็กจะเดินกะเผลกหลังจากตื่นนอน พออากาศอุ่นขึ้น อาการข้อติดก็จะดีขึ้น

ปวดข้อ มักเกิดในช่วงเช้าหรือช่วงที่อากาศเย็นเช่นกัน แต่เด็กบางคนอาจจะปวดทั้งวัน ทำให้ไม่ยอมเดินถ้าอักเสบที่ข้อเข่า เจ็บเวลาถูกอุ้มถ้าเป็นที่ข้อสะโพก หรือถ้าอักเสบที่ข้อเท้าก็จะเจ็บเวลาถูกจับมือหรือจูงเดิน เด็กบางคนอาจเดินกะเผลกหรือเดินไม่ได้เลยถ้าข้อเท้าอักเสบ บางคนอาจไม่สามารถเงยหน้า-ก้มหัวหรือหันซ้าย-ขวาได้สุดเพราะมีอาการที่กระดูกต้นคอ หรือบางคนอาจจะอักเสบที่ข้อต่อขากรรไกร ทำให้อ้าปากได้ไม่สุด ปวดเวลาเคี้ยวอาหาร หรืออ้าปากได้ไม่เท่ากันสองข้าง

ข้อบวม เกิดจากการที่มีน้ำอยู่ในข้อ เวลาเอามือจับจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างปกติ มีรอยแดง จับแล้วเจ็บ กระดูกบริเวณที่อักเสบอาจโตกว่าปกติ ทำให้ขาหรือแขนยาวกว่าอีกข้าง และถ้าเป็นที่ข้อเข่าจะสังเกตว่ารอยบุ๋มที่ข้างๆ หัวเข่าหายไป

จะเห็นว่าอาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของลูกน้อยโดยตรง คุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการขยับ ลุก นั่ง ยืน เดิน อาจต้องสังเกตอย่างละเอียดเพราะอาการใกล้เคียงกับโรคข้ออักเสบธรรมดา ยิ่งถ้าลูกมีอาการเรื้อรังนานกว่า 6 สัปดาห์ ก็ยิ่งน่าสงสัย ควรพาไปหาหมอเพื่อตรวจเลือดให้รู้แน่ชัด และรับการรักษาทันที ไม่อย่างนั้นแล้วลูกอาจต้องทรมานกับความเจ็บปวดหรือสายเกินกว่าที่จะรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

ดูแลลูกอย่างไรให้หายข้ออักเสบ
สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กอาจต้องใช้เวลา คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้ยังสามารถใช้ชีวิตปกติได้ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ เพียงแต่ต้องกินยาต่อเนื่อง โดยตัวยาจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคกลุ่มไหน อาจมีทั้งยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอนด์ชนิดเม็ด ยากลุ่มสารชีวภาพ และที่สำคัญคือยากดภูมิต้านทานในกลุ่มสเตียรอยด์ ที่จะมีผลข้างเคียงทำให้ลูกมีภูมิต้านทานต่ำและติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นการดูแลลูกที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กจึงมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกันคือ

ลดอาการเจ็บปวด นอกเหนือจากยาแก้อักเสบที่คุณหมอสั่งแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความเจ็บปวดของลูกได้อีกทางหนึ่ง โดยถ้าลูกมีอาการอักเสบฉับพลับ ข้อแดง จับแล้วรู้สึกร้อน อาจประคบน้ำเย็น แต่ถ้าอักเสบเรื้อรังแนะนำให้ประคบน้ำอุ่นหรือลงแช่ในอ่างน้ำอุ่นให้สบายตัว พยายามอย่าใช้ข้อที่อักเสบมากเกินไป แต่หลังจากหายอักเสบแล้วควรใช้หรือขยับข้อนั้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ข้อติด

ป้องกันการติดเชื้อ ถ้าคุณหมอให้ยากดภูมิ ผลที่ตามมาก็คือลูกจะมีภูมิต้านทานต่ำ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ เช่น ให้ลูกอยู่ห่างคนป่วย ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก กินอาหารที่สุกและสะอาด ผักต้องต้มให้สุกก่อน ผลไม้ก็ต้องปอกเปลือก และเวลาไม่สบายต้องรีบพาไปหาหมอ ไม่ซื้อยากินเอง

ถึงแม้ว่าโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนจะป้องกันได้ยากหรือไม่ได้เลย แต่สิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะช่วยปกป้องลูกน้อยได้ก็คือการดูแลให้เขาแข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยหลักง่ายๆ 3 อย่าง คือ กินอาหารให้ครบ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่องใสนั่นเอง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://rakluke.com/article/5/19/1086/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87