ภาวะตัวเตี้ย เป็นปัญหาร้อนใจของคุณพ่อแม่ ที่ไม่ต่างไปจากเรื่องสุขภาพ การเจ็บป่วย ทว่าด้วยวิวัฒนาการทางแพทย์ ความรู้และความสามารถของแพทย์ ช่วยให้เรื่องความเตี้ยสามารถแก้ไขได้ หรือหากรู้ทันกับเรื่องนี้ก่อน ก็สามารถช่วยลูกน้อยได้อย่างถูกทาง เดือนนี้มีข้อมูล คำตอบเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาบอก
แบบไหนเรียกว่า “เตี้ย”
- เปรียบเทียบกับความสูงของพ่อแม่ (Genetic height)
- เปรียบเทียบกับพี่น้อง เพศเดียวกัน ร่วมบิดามารดาเดียวกันและรูปร่างสมตัวไม่อ้วนหรือผอมเกินไป
- พิจารณาตามอัตราการเพิ่มความสูงเฉลี่ยของเด็กชายและเด็กหญิง
- นำความสูงของเด็กมาจุดลงบนเส้นกราฟมาตรฐานการเจิรญเติบโต (growth chart) ซึ่งแยกเป็นกราฟสำหรับเด็กหญิงและเด็กชาย หากความสูงอยู่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดแสดงว่าเด็กเตี้ยมาก และมักมีความผิดปกติ หรือถ้ามีการวัดความสูงเป็นระยะๆ แล้วพบว่า มีอัตราการเพิ่มความสูงน้อยกว่าปกติ แนวการเพิ่มความสูงหรือน้ำหนักตัวเบนห่างตกจากแนวเดิม ควรพามาพบคุณหมอโดยเร็ว
อัตราการเพิ่มความสูง (เซนติเมตร / ปี)
อายุ เซนติเมตร / ปี
1-2 ปี 10-12
2-4 ปี 7-8
4-9 ปี (เด็กหญิงยังไม่มีไตเต้านม) 5
4-11 ปี (เด็กชายยังไม่มีการเพิ่มขนาดของอัณฑะ) 5
ปีที่ความสูงเพิ่มสูงสุดช่วงวัยรุ่น
หญิง (ช่วงต้นของวัยรุ่น) 7-8
ชาย (ช่วงกลางของวัยรุ่น) 8-10
อะไรบ้างมีผลต่อการเจริญเติบโต
- กรรมพันธุ์
- โภชนาการที่พอดี
- การนอนหลับสนิทที่เพียงพอ
- การออกกำลังกายที่พอเหมาะและสม่ำเสมอ
- ความเจ็บป่วยเรื้อรังในวัยเด็ก
- โรคที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ ปอด ตับ ไต ลำไส้และโรคเลือดธาลัสซีเมีย เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด
- ฮอร์โมน
สาเหตุที่ทำให้ตัวเตี้ย
- ทารกในครรภ์เจริญเติบโตในสภาพที่ขาดความสมบูรณ์ เด็กเหล่านี้จะมีประวัติตัวเล็กและสั้นผิดปกติ เมื่อครบกำหนดคลอด อาจมีประวัติแม่แพ้ท้องนาน มีน้ำหนักตัวเพิ่มน้อย หรือแม่สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าจัดหรือใช้ยาบางชนิด
ระหว่างตั้งครรภ์
- เพราะกรรมพันธุ์ คือเด็กกลุ่มนี้มีพ่อและแม่เตี้ย
- เตี้ยและเข้าสู่วัยรุ่นช้า หรือเรียกว่า “ม้าตีนปลาย” เด็กกลุ่มนี้ตัวเตี้ยเข้าสู่วัยรุ่นช้ากว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน แต่เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงตามที่ควรจะเป็นตามกรรมพันธุ์
- เนื่องจากมีโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระดูก ซึ่งมักจะมีรูปร่างเตี้ยผิดส่วน แขา ขาสั้น
- การมีโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือได้รับยาบางชนิดที่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโต
- มีความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต, ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
ฮอร์โมนสำคัญกับเรื่องความเตี้ย
การขาดฮอร์โมนบางชนิดจะทำให้เด็กเตี้ย ได้แก่
- ฮอร์โมนเพื่อการเติบโต (growth hormone) คือฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า นอกจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตแล้ว ยังมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เด็กที่ขาดฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตจะมีหน้าตาที่ดูอ่อนกว่าอายุจริง รูปร่างเตี้ยแต่สมส่วน เสียงแหลมเล็กผิดวัย เนื่องจากมีไขมันสะสมบริเวณลำตัวมากจึงทำให้เด็กดูอ้วนกลม ถ้าเป็นเด็กชายมักมีอวัยวะเพศเล็กไม่สมวัย ภาวะขาดฮอร์โมนดังกล่าวมักไม่มีผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก
นอกจากนี้ อาจเกิดจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนบางชนิดที่ผลิตจากต่อมหมวกไต และเด็กในกลุ่มนี้มักมีรูปร่างอ้วนร่วมด้วย เป็นต้น และการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนบางชนิดมักทำให้เด็กมีรูปร่างอ้วนเตี้ย เช่น ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต เช่นกัน
เตรียมข้อมูลให้พร้อม
เมื่อมาพบคุณหมอ ควรเตรียมข้อมูลความสูงและน้ำหนักในอดีต ซึ่งมักจะบันทึกไว้ในสมุดสุขภาพหรือสมุดพกของโรงเรียนเท่าที่จะหาได้ เพื่อคุณหมอจะได้ทราบอัตราการเจริญเติบโตในอดีต รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อแรกเกิด คุณหมอจะบอกได้ว่าปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุเท่าใด
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยก็คือ
- อายุกระดูกได้จากการถ่ายภาพรังสีที่มือและข้อศอกเด็ก (ถ้ามีอายุระหว่าง 4-12 ปี) แล้วนำฟิล์มเอกซเรย์นั้นมาเปรียบเทียบกับภาพรังสีมาตรฐานของเด็กปกติตามเพศและวัยต่างๆ อ่านออกมาเป็นปีและเดือน
- อายุกระดูกมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น การมีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ และการหยุดเพิ่มความสูง
- เด็กที่อ้วนจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ จะหยุดโตเมื่อมีอายุน้อยกว่าเด็กปกติ เปรียบได้กับม้าตีนต้น และความสูงเมื่อหยุดโตมักน้อยกว่าความสูงที่ควรจะเป็นตามกรรมพันธุ์
- การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอ ดื่มนมเป็นประจำ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับสนิทที่นานพอ และการเลี้ยงดูที่อบอุ่น ไม่เกิดความเครียดเรื้อรัง จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต
- เด็กที่มีลักษณะเตี้ยเล็ก ควรได้รับการตรวจจากคุณหมอตั้งแต่อายุน้อย หรือก่อนมีการเปลี่ยนแปลงทางกายเข้าสู่วัยรุ่น
- เด็กสาวที่มีประจำเดือนมาแล้วนาน 3 ปี หรือเด็กหนุ่มที่มีเสียงแตกมานาน 3 ปี มักใกล้หยุดโตแล้ว
บทความโดย : พญ.อรนันท์ ศิวโมกษธรรม
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสมโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล
ขอบคุณบทความจาก : http://www.motherandcare.in.th/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2---%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89