ลูกน้อยวัยซนบ่นปวดข้อเท้า อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าเกิดจากความซุกซนของเด็ก แต่หากเรื้อรังนานกว่า 1เดือนอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาพบแพทย์โรคข้อ แม้การบาดเจ็บในเด็กจากการเล่นจะดูเป็นเรื่องปกติ ปล่อยสักพักเดี๋ยวก็หาย แต่สำหรับเด็กบางคนอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่ออาการบาดเจ็บไม่หายและเป็นเรื้อรังมากกว่า 6สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณเตือนของ "โรคข้ออักเสบ" แบบไม่ทราบสาเหตุก็ได้
พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินความต้องการและหันกลับมาทำร้ายตัวเอง
เด็กทุกคนมีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคนี้ โดยเฉพาะที่มีประวัติครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้มาก่อนยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
อาการของโรคสามารถเกิดขึ้นบริเวณข้อต่างๆ ทั่วร่างกาย ทั้งข้อต่อสะโพก ไหล่ เอว เข่า ขา ข้อมือและข้อเท้า สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุ 8-9เดือนไปจน 16ปี ส่วนการรักษาก็ขึ้นอยู่กับการตอบรับของร่างกายต่อยา บางคนหลังการรักษาอาจหายขาดหรืออาจจะกลับมาเป็นโรคซ้ำอีกก็ได้เช่นกัน
“วิธีสังเกตอาการเริ่มต้นให้ดูจากการบาดเจ็บของเด็ก คือหากเจ็บปวดทั่วไปก็จะหายไปเองภายใน 1สัปดาห์ แต่หากเข้าข่ายโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุ อาการปวดจะเป็นเรื้อรังนานกว่า 6สัปดาห์ โดยเฉพาะช่วงเช้าที่อากาศเย็นจะยิ่งปวดและข้อจะยึดติดมากกว่าเวลาอื่น” แพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวและว่า หากพบอาการลักษณะนี้ควรส่งสถานพยาบาลที่มีแพทย์พร้อมจะวินิจฉัยโรค เพื่อการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ในการรักษาโดยตรง
สำหรับเด็กเล็กซึ่งยังไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูด พญ.โสมรัชช์ แนะนำว่า ให้สังเกตจากอาการบวมของข้อซึ่งอาจมีน้ำขังอยู่ในข้อ เวลาใช้มือจับจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างที่ปกติอย่างชัดเจน หรือมีรอยแดงบริเวณข้อ จับแล้วเจ็บจนร้องไห้หรือมีอาการข้อติดในช่วงเช้า ซึ่งเรียกว่า ภาวะ Morning Stiffness เนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับข้อ ทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา แต่เมื่อตื่นนอนมาแล้วได้ขยับตัว อาการข้อติดหรือปวดข้อก็จะดีขึ้น
อาการแบบนี้ยังส่งผลให้เด็กบางคนไม่สามารถนอนกลางวัน หรือนั่งเรียนทั้งวันได้ หรือช่วงที่อากาศเย็นๆ ทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่นๆ อาทิ ตาอักเสบ ไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไข้จะขึ้นสูงในเวลาเดิมทุกวัน หรือมีผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้น และเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไป หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์ทันที
คุณหมอ กล่าวว่า การกินยาแก้ปวดหรือการนวดอาจไม่ได้ช่วยอะไร ควรเลือกใช้วิธีประคบร้อนไปยังบริเวณข้อที่ปวด และทำกายภาพร่วมด้วยจะช่วยบรรเทาการเจ็บปวดได้อีกทางหนึ่ง ลดการตึงของข้อที่ติดยึด และเคลื่อนไหวได้องศาที่มากกว่าเดิม
ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องจึงควรพิถีพิถันเรื่องอาหารเป็นพิเศษ เช่น เลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่กินส้มตำใส่ปูรวมถึงไม่กินผักสด เพื่อลดโอกาสที่จะรับพยาธิเข้าสู่ร่างกายหรือป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น
พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ด้วยกีฬาที่ไม่เกิดแรงกระแทกบริเวณข้อหรือต้องลงน้ำหนัก อย่างพวกเช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน เป็นต้น และไม่ควรให้เล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงบริเวณข้ออย่างฟุตบอล บาสเกตบอล บัลเลย์ เพื่อลดการอักเสบที่ข้อโดยไม่จำเป็น
"พ่อแม่ต้องมีสติและกำลังใจที่จะดูแล เพราะกว่าโรคจะหายอาจต้องใช้เวลารักษาเป็นแรมปี รวมถึงค่ายาที่แพงอีก ที่สำคัญคือ ควรปล่อยให้เขาได้เล่นหรือเคลื่อนไหวเหมือนเด็กทั่วไป เพราะการระมัดระวังโดยห้ามขยับหรือเคลื่อนไหว จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้มีอาการข้อติดตามมา” คุณหมอกล่าว
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ที่เพิ่งจะมีการค้นพบ แต่มีจำนวนผู้ป่วยอยู่น้อยมาก ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและไม่รู้จะรับมืออย่างไร รวมถึงแพทย์ที่ทำการรักษาโรคนี้ก็มีอยู่เพียง 4คนในไทย ทำให้การวินิจฉัยและการรักษาทำได้ช้าไปด้วย
ฉะนั้น การพบแพทย์ตั้งแต่รู้อาการเริ่มต้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาได้หายขาด แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจนเรื้อรังโดยที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องกับโรค จะทำให้ระยะยาวข้อมีการติดขัด เคลื่อนไหวไม่สะดวก จนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือกล้ามเนื้อลีบตามมาได้
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://talkaboutsex.thaihealth.or.th/knowledge/6144